เล่มที่ 9
เรื่องของยา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ขั้นตอนในการผลิตยา

            การผลิตยามีหลักใหญ่ๆ คือ ถ้าเป็นยาจากพืช ต้องสืบสวนให้แน่นอนเสียก่อนว่า พืชนั้นสามารถรักษาโรคได้จริง ส่วนไหนของพืชทีมีแก่นยา (ยาหลัก) มากที่สุด ก็นำมาแยกด้วยขบวนการทางฟิสิกส์ และเคมี จนได้ยาบริสุทธิ์ จัดการหาสูตรโครงสร้าง แล้วสังเคราะห์ขึ้นใหม่เลียนแบบยาธรรมชาติ อาจสังเคราะห์เพียงกึ่งหนึ่ง หรือสังเคราะห์ตั้งแต่ต้น บางคราวก็ใช้การแยกแก่นยาบริสุทธิ์จากพืชโดยตรง ทั้งนี้แล้วแต่ว่า วิธีใดได้ผลดีที่สุด กล่าวคือ ได้ยาปริมาณมาก ยานั้นบริสุทธิ์ และสิ้นเปลืองรายจ่ายน้อยที่สุด นี่เป็นหลัก กว้างๆ และเป็นขั้นเริ่มต้นในการผลิตยาแผนปัจจุบันทางอุตสาหกรรม

            สำหรับยาแผนโบราณ ใช้เพียงการแยกแก่นยา จากพืช ซึ่งอาจได้ไม่บริสุทธิ์อย่างยาแผนปัจจุบัน (แต่ไม่มีสารอื่นที่มีพิษปนอยู่) และไม่ต้องหาสูตร เพื่อสังเคราะห์ยานั้นต่อไป

การผลิตยาแผนโบราณโดยใช้เครื่องจักร มี ๒๕ วิธี คือ

  • ยาตำเป็นผงแล้ว ปั้นเป็นลูกกลอนกลืนกิน
  • ยาตำเป็นผงแล้ว บดให้ละเอียดละลายน้ำกระสายต่าง ๆ กิน
  • ยาสับเป็นท่อนเป็นชิ้น บรรจุลงในหม้อเติมน้ำต้น รินแต่น้ำกิน
  • ยาดองแช่ด้วยน้ำท่า หรือสุรา แล้วรินแต่น้ำกิน
  • ยาสกัดด้วยเหล้าหรือแอลกอฮอล์ หยดลงน้ำกิน
  • ยาเผาให้เป็นด่าง เอาด่างนั้นแช่น้ำไว้ แล้วรินแต่น้ำกิน
  • ยาเผาให้เป็นด่าง เอาด่างนั้นแช่น้ำไว้ แล้วรินแต่น้ำด่างนั้นกิน
  • ยาเผาหรือเผาให้ไหม้ ตำเป็นผงบดให้ละเอียดละลายน้ำกระสายต่างๆ กิน
  • ยากลั่นเอาน้ำเหงื่อ เช่น กลั่นสุราเอาน้ำเหงื่อกิน
  • ยาประสมแล้ว ห่อผ้าบรรจุลงในกลัก เอาไว้ใช้ดม
  • ยาประสมแล้ว ตำเป็นผง กวนให้ละเอียดใส่กล่องเป่าทางจมูก และใน ลำคอ เช่น ยานัตถุ์
  • ยาหุงด้วยน้ำมัน เอาน้ำมันใส่กล้องเป่าบาดแผล
  • ยาประสมแล้ว ติดไฟใช้ควันใส่กล้องเป่าบาดแผล และฐานฝี
  • ยาประสมแล้ว มวนบุหรี่สูบเอาควัน เช่น บุหรี่
  • ยาประสมแล้ว ต้มเอาน้ำบ้วนปาก
  • ยาประสมแล้ว ต้มเอาน้ำอาบ
  • ยาประสมแล้ว ต้มเอาน้ำแช่
  • ยาประสมแล้ว ต้มเอาน้ำชะ
  • ยาประสมแล้ว ต้มเอาไอรม
  • ยาประสมแล้ว ใช้เป็นยาทา
  • ยาประสมแล้ว ทำเป็นลูกประคบ
  • ยาประสมแล้ว ใช้เหน็บ
  • ยาประสมแล้ว ต้มเอาน้ำสวน
  • ยาประสมแล้ว ทำเป็นยาพอก
  • ยาประสมแล้ว ทำเป็นขี้ผึ้งปิดแผล ซึ่งเรียกว่ายากวน
            ส่วนยาแผนปัจจุบัน เมื่อได้ยาที่บริสุทธิ์แล้ว ต้องนำมาทดสอบคุณสมบัติทางฟิสิกส์ และเคมี เช่น ดูการละลายของยาในน้ำ และในตัวทำละลายอินทรีย์อื่นๆ การหลอมเหลว การกลายเป็นไอ ความคงทนของตัวยาต่อภาวะต่างๆ จากนั้นนำยามาทดสอบผลทางสรีรวิทยาว่า มีผลอย่างไรต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย ตรวจสอบผลทางเภสัชวิทยาว่า ยามีข้อดีอย่างไรต่อร่างกาย ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของยาในร่างกาย รวมทั้งการทำลาย และการขับถ่ายยาออกจากร่างกาย

เครื่องมือสำหรับการสกัดยา

            ทำการทดสอบผลเสียของยาต่อระบบต่างๆของร่างกาย โดยเริ่มศึกษาในสัตว์ทดลอง เช่น ใช้หนูถีบจักร หนูพุก หนูตะเภา กระต่าย สุนัข ลิง แมว ม้า ฯลฯ อาจใช้สัตว์ทั้งตัว หรือใช้เพียงอวัยวะบางอย่าง ในการทดลองศึกษาผลเสียของการใช้ยาที่อาจมีต่อสัตว์ ที่กำลังท้อง สัตว์ที่กำลังให้นมลูก ดูว่ายาก่อให้เกิด ความผิดปกติต่อคัพภะ (ลูกอ่อนในท้อง) หรือไม่ ทำให้เกิดความผิดปกติแก่ลูกอ่อนของสัตว์เพียงใด สามารถทำให้เกิดมะเร็งได้ไหม

การศึกษาพิษของยาในสัตว์

อาจทำได้ ๒ แบบ คือ ศึกษาพิษปัจจุบัน และพิษเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากการใช้ยานานๆ หาขนาดยาที่ทำให้ สัตว์ตายร้อยละ ๕๐

            ต่อจากนั้นจึงนำยามาทดลองในคนปกติและในผู้ป่วยต่อไปตามลำดับ ทั้งนี้ต้องติดตามผลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา ในการนี้ ต้องใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ เพื่อหาข้อมูล เช่น ฟิสิโอกราฟ โครมาโตกราฟฟี ชนิดต่างๆ และสเปกโทรโฟโตมิเตอร์ เป็นต้น ปัจจุบัน มีการใช้สมองกลร่วมด้วย ถ้าปรากฏจากการศึกษาอย่าง รอบคอบและกว้างขวางทุกแง่ทุกมุมแล้วว่า ยานั้นดี มีคุณในทางรักษา และมีผลเสียน้อย จึงผลิตออกมาจำหน่าย โดยจัดเตรียมรูปยาให้เหมาะสม (กิน ฉีด ทา ฯลฯ) จัดขนาดในแต่ละเม็ดหรือแต่ละหน่วย (ยาฉีด) ให้เหมาะสม คือไม่มากหรือน้อย ถ้ายาที่ทดสอบยังมี ผลดีในทางรักษาน้อย หรือมีผลเสียอยู่มาก ก็จะต้องทำ การศึกษาทบทวนใหม่ บางครั้งอาจต้องเปลี่ยนแปลง สูตรโครงสร้างบ้างเล็กน้อย เพื่อความเหมาะสม แต่บางคราวต้องล้มเลิกการใช้ยานั้นก็ได้ถ้าเห็นว่าการใช้ นั้นเป็นการเสี่ยงภัยหรือให้โทษมากกว่าให้คุณ

การทดสอบคุณสมบัติทางฟิสิกส์

            การจัดจำหน่ายยาที่ผ่านการทดสอบมาเป็นอย่าง ดีแล้วนั้น จะกระทำได้ต่อเมื่อได้นำยาไปขึ้นทะเบียนยา ที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อการตรวจสอบเสียก่อน ไม่ว่ายานั้นจะเป็นยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณก็ตาม เมื่อได้รับอนุญาตเป็นทางการแล้ว จึงจะจำหน่วยยานั้นๆ ได้

            ผู้ที่มีความสนใจเกี่ยวกับการผลิตยาแผนปัจจุบัน จะขอเข้าชมได้ที่องค์การเภสัชกรรม ถนนพระราม ๖ พญาไท กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ตรงข้ามโรงพยาบาล รามาธิบดี ณ ที่นั้นมีร้านจำหน่ายยาด้วย สำหรับร้าน ขายยาที่ได้มาตรฐาน คือ มีเภสัชประจำตลอดเวลา อีกแห่งหนึ่ง คือ ร้านขายยาของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่พญาไท เช่นเดียวกัน