เล่มที่ 9
เรื่องของยา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
อันตรายจากยา

            ยาเป็นเสมือนดาบสองคม คือ ให้คุณเมื่อใช้ถูก และให้โทษเมื่อใช้ผิด ผู้ใช้ยาพึงระลึกถึงอันตรายที่อาจเกิดจากยาไว้บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ใช้ยารักษาตน เอง แต่ถ้าเป็นการใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์แล้ว โอกาสที่จะเกิดผลเสียนับว่ามีน้อยมาก

            อันตรายจากยา อาจเกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น เกิดจากตัวยาเอง เกิดจากความแตกต่างในตัว ผู้ใช้ยา ซึ่งมีปฏิกิริยาต่อยาผิดปกติ และเกิดจากการใช้ยาไม่ถูกต้อง

ผลเสียเนื่องจากยา

            ยาแต่ละขนานมักมีผลเสียอยู่ในตนเองไม่มากก็น้อย แม้จะใช้ในขนาดธรรมดา (ขนาดรักษา) เช่น ยาแก้อาการแพ้ ทำให้ง่วงนอน ยาแก้ปวดลดไข้ ระคายกระเพาะอาหาร และลำไส้ เป็นต้น

            การใช้หลายขนานร่วมกัน อาจเป็นยาเม็ดหนึ่ง ที่มีตัวยาหลายขนาน หรือให้ยาหลายขนานแยกเม็ดกัน ในเวลาเดียวกัน หรือในเวลาใกล้เคียงกัน บางคราว แทนที่จะให้ผลดีกลับทำให้เกิดผลเสียในการรักษาและ เกิดอาการพิษมากขึ้นได้ เช่น การใช้ยาระงับประสาท ร่วมกับยาแก้อาการแพ้ จะทำให้สมองถูกกดมากเกินต้องการ เป็นต้น

            ยาบางอย่างทำให้เกิดผลเสียได้ เมื่อผู้ใช้ยานั้นได้รับของแสลง ซึ่งอาจได้แก่ อาหารบางชนิด เครื่องดื่มบางอย่าง บุหรี่ หรือการปฏิบัติตัวที่ไม่ถูกต้อง เช่น การใช้ยาลดความดันโลหิตสูงบางขนาน ร่วมกับการบริโภคเนยแข็งหรือกล้วยหอม ทำให้เกิดความดันโลหิตสูงขึ้นจนถึงขั้นอันตรายได้ เป็นต้น

            ยาบางชนิดสะสมในร่างกายได้เมื่อใช้ในขนาด มาก หรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น ยานอนหลับ ยาลดความดันโลหิตสูง บางขนาน เป็นต้น

            ยาไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ได้ เช่น มีอันตรายจากสารปนเปื้อน ที่บังเอิญหลงเหลือออยู่ ในยาที่ใช้ (ยาไม่บริสุทธิ์พอ) ยาปลอม ยาที่มีตัวยาไม่ครบขนาน ตามที่ระบุไว้ในฉลาก ยาที่มีปริมาณมากหรือน้อยกว่าที่กำหนดไว้ ยาเสื่อมคุณภาพ ยาเสื่อมสภาพ หรือยาที่หมดอายุ ทำให้โรคเดิมไม่หาย โรคกำเริบมากขึ้น มีโรคแทรกซ้อน หรือถูกพิษจากสารปนเปื้อน หรือยาเสื่อมสภาพ อาจถึงตายได้

            ผลเสียเนื่องจากความแตกต่างในตัวผู้ใช้ยา ซึ่งมีปฏิกิริยาต่อยาผิดปกติ

            บางคนมีความไวต่อยาบางชนิดผิดไปจากคนอื่นๆ แม้จะใช้ยาในขนาดรักษา ทำให้เกิดผลเสียต่อโรคเดิม คือ เกิดภาวะอื่นแทรกซ้อน ทำให้ร่างกายของผู้นั้นอ่อนแอมากขึ้น

            บางคนเกิดอาการแพ้ยาบางชนิด แม้ในขนาดน้อยๆ ซึ่งคนธรรมดาไม่แพ้ อาจเกิดอาการรุนแรงถึงแก่ชีวิต

            บางคนมีโรคประจำตัวอยู่ เช่น โรคปอด โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ เป็นต้น ซึ่งเป็นเหตุให้ยาสะสมในร่างกาย หรือร่างกายมีความไวต่อยาเป็นพิเศษ ส่งเสริมให้เกิดพิษของยาได้ง่ายเข้าและมีอาการรุนแรงมากขึ้น

            ผลเสียเนื่องจากการใช้ยาไม่ถูกต้อง

            การใช้ยาไม่ถูกต้องอาจมีผลเสียต่อร่างกาย ทั้งนี้เพราะได้รับยาไม่ถูกกับโรค หรือได้รับยาเพียงช่วยบรรเทาอาการ แต่ไม่ได้รักษาสาเหตุของโรคนั้นๆ หรือใช้ยาแต่ละครั้ง (ขนาด) มากหรือน้อยเกินควร หรือใช้ยามากครั้ง หรือน้อยครั้งเกินไปในวันหนึ่งๆ หรือใช้ยานานวัน หรือน้อยวันกว่าที่ควรจะเป็น หรือใช้ยาไม่ถูกทาง เช่น เอายาเหน็บไปกิน หรือเอายากินไปเหน็บ เป็นต้น หรืออาจใช้ยาไม่ถูกวิธี เช่น ยาบางชนิดต้องเพิ่ม หรือลดขนาดเมื่อใช้ติดต่อกันหลายวัน ยาบางขนานต้องค่อยๆ ถอนออก ไม่หยุดใช้ยาโดยทันที

            นอกจากนี้ อาจมีสาเหตุจากการเปลี่ยนยาบ่อยๆ หรือการใช้ยาหลายขนานด้วยตนเอง ซึ่งก่อให้เกิดโทษ มากกว่าคุณ

            ขนาดยาบางชนิดสำหรับแต่ละคน แต่ละเพศ และแต่ละวัย ไม่เหมือนกันทีเดียว การใช้ยาจึงต้อง คำนึงถึงอายุภาวะของร่างกาย (ระหว่างการตั้งครรภ์ ระยะให้นมบุตร ขณะมีประจำเดือน ตอนฟื้นไข้) รวมทั้งโรคอื่นที่เป็นร่วมด้วย

            อาชีพของผู้ใช้ยาก็มีความสำคัญในการใช้ยาด้วย เช่น ไม่ควรใช้ยาที่ทำให้เกิดอาการง่วงซึม ถ้าผู้นั้นต้องทำงานในที่สูง ต้องขับรถ หรือต้องทำงานใกล้เครื่องจักร ใกล้ไฟ เป็นต้น

            ผลเสีย ๓ ประการดังกล่าวมาแล้วมีผลต่อผู้ใช้ มากมาย อาจกล่าวโดยสังเขป คือ เสียทั้งเวลาและเงินทองในการรักษา เพราะโรคเดิมไม่หายขาด อาจมีอาการ ทรงกับทรุด บางคราวอาการทุเลาขึ้นชั่วคราวแล้วกลับเป็นซ้ำอีก ทำให้โรคเป็นมากขึ้น และอาจติดต่อไปยังผู้ อื่นได้ด้วย นอกจากนี้ อาจทำให้โรคดื้อยา ซึ่งต้องการการรักษาที่ยุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้น หรืออาจมีโรคอื่นแทรกซ้อน และเกิดอันตรายจากยา เช่น

            เกิดอาการไข้เนื่องจากยา เมื่อหยุดยาไข้จะหาย ไปเอง

            เกิดอาการกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเดินหรือท้องผูก เบื่ออาหารหรืออยากอาหารมากเกินควร คลื่นไส้ อาเจียน อาเจียนเป็นเลือด แผลใน กระเพาะอาหารและลำไส้ทะลุ เกิดตกเลือดภายใน ดีซ่าน ฯลฯ

            เกิดอาการกับระบบหัวใจและเลือดไหลเวียน เช่น หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ความดันโลหิตอาจสูงหรือต่ำกว่าธรรมดา หลอดเลือด อักเสบ ฯลฯ

            เกิดอาการกับระบบประสาทกลาง เช่น ยากระตุ้นประสาทกลางทำให้ปวดศีรษะมาก สมองถูกกระตุ้นจนนอนไม่หลับ ความคิดสับสน ประสาทหลอน อาจมีอาการชักได้ ฯลฯ ส่วนยากดประสาทกลางทำให้ เกิดการง่วงซึม มีอาการซึมเศร้า อาการทางโรคจิต การติดยา หรือหมดสติได้ ฯลฯ

            เกิดอาการกับระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบ หืด ปอดอักเสบ หายใจช้า อาจตายได้ ฯลฯ

            เกิดอาการกับอวัยวะรับสัมผัส เช่น ตา (ดูภาพ ไม่ชัด เกิดต้อกระจก ต้อหิน อาจตาบอดได้ ฯลฯ) หู (เสียการทรงตัว เกิดอาการวิงเวียน ได้ยินเสียงแปลกๆ หูอื้อ หูตึง หูอาจหนวกได้ ฯลฯ) จมูก (มีอาการคล้าย เป็นหวัด จมูกอักเสบ ฯลฯ) ลิ้น (ลิ้นเป็นฝ้า ลิ้นอักเสบ ฯลฯ) ผิวหนัง (ผิวหนังแห้ง แดง ร้อน เกิดตุ่ม เกิดการอักเสบ มีลมพิษ ทนแสงแดดไม่ได้ ฯลฯ)

            เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนกำลัง กล้ามเนื้อกระตุก เดินเปะปะ กล้ามเนื้อและข้ออักเสบ กระดูกและฟันผุ ฯลฯ

            เกิดอาการกับระบบทางเดินปัสสาวะ และอวัยวะสืบพันธุ์ เกิดอันตรายต่อไต ทำให้ไตเสียหน้าที่ เกิดนิ่ว ปัสสาวะเป็นเลือด มีไข่ขาวในปัสสาวะ ความรู้สึกและสมรรถภาพทางเพศมากขึ้น ลดลง หรือไม่มีเลย อาจเป็นหมันได้ ฯลฯ

            เกิดอาการจากการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือต่ำกว่าปกติ เกิดโรคเกาต์ (มีกรดยูริกในเลือดสูงกว่าปกติ) มีโพแทสเซียมในเลือดน้อยกว่าปกติ หรือมีการคั่งของโซเดียม ประจำเดือนมาไม่ปกติ (มีมาก น้อย มาไม่ตรงเวลา หรือหยุดไปเลย) ฯลฯ

            เกิดโรคโลหิตจาง จำนวนเกล็ดเลือดลดต่ำลง เลือดจึงออกง่าย แต่หยุดยากเวลาเกิดมีบาดแผลหรือมี ประจำเดือน เม็ดเลือดขาวอาจมีน้อยหรือมากกว่าปกติ ความต้านทานของร่างกายต่อโรคอาจลดลง เป็นเหตุให้เกิดโรคติดเชื้อได้ง่าย และเป็นรุนแรง ฯลฯ

            ยาบางอย่างสามารถผ่านจากแม่ทางรกเข้าสู่ทารก ในครรภ์ได้ เช่น อะมินอพเตอริน และ เมโธเทรกเสต (ยาทั้งสองเป็นยาต้านกรดโฟลิค) คลอโรควิน (ยารักษา มาเลเรีย) ฯลฯ เป็นเหตุให้เกิดการแท้ง การคลอด ก่อนกำหนด เด็กเจริญเติบโตไม่ได้ดีเท่าที่ควร เด็กตายขณะคลอด หรือตายหลังคลอด เมื่อคลอดออกมา แล้วเด็กจะมีร่างกายและจิตใจ ไม่สมประกอบ ฯลฯ

            ยาบางอย่างถูกขับทางน้ำนม เช่น ยาถ่าย อะโทรปีน (ยาลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ) โบรไมด์ (ยานอนหลับ) ฯลฯ หญิงที่ให้นมบุตรจึงควร ระวังผลเสียของยาที่อาจเกิดแก่ทารกได้

            ยาบางอย่างเป็นสาเหตุของมะเร็ง เช่น มะเร็ง ที่อวัยวะต่างๆ หรือ มะเร็งเม็ดเลือด ฯลฯ ตัวอย่างยา ได้แก่ คลอแรมเฟนิคอล (ยาปฏิชีวนะ) เป็นต้น

            ยาบางอย่าง (ยากระตุ้นหรือยากดระบบประสาทกลางบางขนาน) ทำให้เกิดการเสพติดโดยไม่รู้ตัว ทำให้ร่างกายและจิตใจอ่อนแอ ไม่อาจประกอบอาชีพ ได้ตามปกติ และเป็นช่องทางให้เกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย

            ยาบางขนาน (เพรดนิโซโลน-ฮอร์โมนจากเปลือกต่อมหมวกไต) อาจทำให้โรคที่แอบแฝงอยู่ปรากฏขึ้น หรือที่เป็นอยู่แล้ว กลับเป็นมากขึ้นถึงขีดอันตรายได้ เช่น วัณโรค โรคเบาหวาน โรคความดัน โลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต อาการทางจิต โรคติดเชื้อ ทำให้แผลหายช้า เชื้อโรคดื้อยา มีอันตรายมากขึ้น เวลาได้รับยาสลบ ฯลฯ

            ยาบางชนิดถูกขับทางน้ำตา (คลอโรควิน-ยารักษามาลาเรีย) น้ำลาย (ไอโอไดด์-ยารักษาโรคคอพอกเป็นพิษ) ทางลมหายใจ (คลอรัลไฮเดรต-ยานอนหลับ) ฯลฯ จึงอาจไปมีผลเสียต่ออวัยวะที่เกี่ยวข้องได้

            การแพ้ยาบางอย่าง (เพนิซิลลิน-ยาปฏิชีวนะ) อาจเป็นรุนแรง และรวดเร็วมาก จนถึงแก่ชีวิต