เล่มที่ 9
สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
อาการของการตั้งครรภ์

            เมื่อมีการตั้งครรภ์ ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลง หรือมีอาการต่างๆ เกิดขึ้นหลายอย่าง ซึ่งอาจช่วยให้ทราบได้ว่า มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นหรือไม่ อาการเหล่านี้ ได้แก่

            ๑. ประจำเดือดขาดหายไป เป็นการเปลี่ยนแปลงขั้นแรกของการตั้งครรภ์ สำหรับผู้ที่แต่งงานแล้ว และเคยมีประจำเดือนมาตรงตามเวลา แต่โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ หรือความวิตกกังวล ก็อาจเป็นสาเหตุให้ประจำเดือนขาดหายไป หรือไม่มาตามกำหนดได้

            ๒. มีอาการแพ้ท้อง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ น้ำลายออกมากกว่าปกติ อยากกินของเปรี้ยวๆ หรือของแปลกๆ ได้กลิ่นต่างๆ มากผิดธรรมดา บางครั้งมีอารมณ์อ่อนไหว โกรธง่าย ใจน้อย อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ประมาณสองในสามของผู้ตั้งครรภ์ และเกิดขึ้นมากหรือน้อยแตกต่างกันไป

            ๓. มีอาการเปลี่ยนแปลงของเต้านม และหัวนม ตามปกติก่อนประจำเดือนจะมาเล็กน้อย เต้านมจะคัดตึง และกดเจ็บ เมื่อตั้งครรภ์จะมีอาการเหล่านี้เพิ่มขึ้น เต้านมอาจมีขนาดโตขึ้น หัวนม และผิวหนังบริเวณลานหัวนมจะมีสีคล้ำมากขึ้น โดยเฉพาะครรภ์แรก จะสังเกตเห็นได้ง่าย และในระยะครรภ์แก่อาจจะมีน้ำนมไหลออกมา
            ๔. ถ่ายปัสสาวะบ่อย แต่ไม่แสบ ไม่ขัด หรือขุ่น อาการนี้จะพบในอายุครรภ์ ๒-๓ เดือนแรก เนื่องจากมดลูกไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ และจะมีอาการนี้อีกครั้งในเดือนสุดท้ายของครรภ์ เนื่องจาก ศีรษะเด็กไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ

            ๕. คลำพบก้อนที่บริเวณเหนือหัวหน่าว ซึ่งจะคลำได้เมื่ออายุครรภ์เกิน ๓ เดือนไปแล้ว แต่ในคนผอมอาจจะคลำพบก่อนระยะนี้ก็ได้

            ๖. เด็กดิ้น ในครรภ์แรกแม่จะรู้สึกว่า เด็กดิ้น เมื่ออายุครรภ์ประมาณ ๒๐ สัปดาห์ สำหรับผู้ที่เคยมีบุตรมาแล้วจะรู้สึกเร็ว คือ อายุครรภ์ประมาณ ๑๘ สัปดาห์

การวินิจฉัยการตั้งครรภ์

มีหลายวิธี อาจใช้วิธีใดวิธีหนึ่งหรือใช้หลายวิธี ประกอบกัน ได้แก่

            ๑. การซักประวัติได้ว่าขาดประจำเดือนและมี อาการต่างๆ ของการตั้งครรภ์ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
            ๒. การตรวจหน้าท้อง คลำได้ส่วนต่างๆ ของเด็ก และฟังได้ยินเสียงหัวใจเด็ก
            ๓. การตรวจภายใน พบการเปลี่ยนแปลง ของผนังช่องคลอดและปากมดลูก และพบว่าขนาดของมดลูกโตขึ้น
            ๔. การตรวจระดับฮอร์โมนในเลือดหรือในปัสสาวะ ระดับของฮอร์โมนนี้จะสูงขึ้นเมื่อมีการตั้งครรภ์ และจะสูงสุด เมื่ออายุครรภ์ประมาณ ๘-๑๐ สัปดาห์
            ๕. การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (ultra- sound) สามารถวินิจฉัยการตั้งครรภ์ได้ตั้งแต่อายุครรภ์ ๕-๖ สัปดาห์

การคะเนวันคลอด


            โดยปกติ ทารกจะคลอดเมื่ออายุครรภ์ครบกำหนด คือ ๔๐ สัปดาห์ หรือ ๒๘๐ วัน นับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย ดังนั้น ในหญิงที่มีประจำเดือนมาตรงและสม่ำเสมอทุก ๒๘ วัน เราจะสามารถ คะเนวันคลอดได้ โดยนับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายไป ๒๘๐ วัน ซึ่งในทางปฏิบัติเรานิยมนับ ย้อนหลังไป ๓ เดือน แล้วบวกอีก ๗ วัน ก็จะคะเนวันที่และเดือนที่จะคลอดได้

            ในกรณีที่จำวันที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้ายไม่ได้ เราอาจคะเนวันคลอดได้จากวันแรกที่แม่เริ่มรู้สึกว่าเด็กดิ้น โดยทั่วไป แม่จะเริ่มรู้สึกว่า เด็กดิ้น เมื่ออายุครรภ์ ได้ ๒๐ สัปดาห์ ในครรภ์แรก และ ๑๘ สัปดาห์ในครรภ์หลัง ดังนั้น เราสามารถคะเนวันคลอด โดยนับจากวัน แรกที่เริ่มรู้สึกว่าเด็กดิ้นไปอีก ๒๐ สัปดาห์ ในครรภ์แรก และ ๒๒ สัปดาห์ในครรภ์หลัง วิธีนี้มีโอกาสคลาดเคลื่อนได้มากกว่าวิธีแรก เพราะอาศัยความรู้สึกของแม่เป็นหลัก

            นอกจากนี้ แพทย์สามารถคะเนวันคลอดได้จาก การประมาณอายุครรภ์ขณะตรวจ โดยดูจากขนาดของมดลูก รวมทั้งการวัดขนาดของศีรษะและลำตัวของเด็ก ในครรภ์ โดยอาศัยเครื่องมือตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง
ขั้นตอนการปฏิสนธิ : ไข่ที่แบ่งตัวแล้ว
ขั้นตอนการปฏิสนธิ : ไข่ที่แบ่งตัวแล้ว
การฝากครรภ์

            การฝากครรภ์ถือเป็นเวชศาสตร์ป้องกันอย่าง หนึ่ง เพื่อการป้องกันรักษา และลดอันตรายจากโรคแทรกซ้อน อันอาจเกิดขึ้นได้กับมารดาและทารก ทั้งทางร่างกายและจิตใจในระยะก่อนคลอด ระยะคลอด และหลังคลอด

            เมื่อทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ ควรรีบไปฝากครรภ์ เพื่อรับคำแนะนำการปฏิบัติตัวของมารดาและการดูแลทารกจากแพทย์ หรือพยาบาลอย่างใกล้ชิด โดยแพทย์จะนัดตรวจเป็นระยะๆ ซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะแพทย์สามารถตรวจพบ และเปรียบเทียบได้ว่า ครรภ์นั้นผิดปกติหรือไม่ เด็กเจริญเติบโตตามปกติหรืออยู่ในท่าปกติหรือเปล่า อีกทั้งเพื่อป้องกัน และรักษาโรคแทรกซ้อน ซึ่งอาจเกิดขึ้นในระยะต่างๆ ของการตั้งครรภ์