เล่มที่ 9
สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด

หมายถึง การมีเลือดออกทางช่องคลอดที่ไม่เกี่ยวข้องกับประจำเดือน แบ่งออกเป็น ๒ กรณี คือ

๑. เลือดออกที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์

เป็นอาการผิดปกติที่ต้องรีบปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แบ่งสาเหตุได้ตามระยะของการตั้งครรภ์ ดังนี้

ระยะ ๒๐ สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ อาจเกิดจากการแท้ง ครรภ์ไข่ปลาดุก ครรภ์นอกมดลูก เป็นต้น

ระยะ ๒๐ สัปดาห์หลังของการตั้งครรภ์ อาจเกิดจากรกเกาะต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด การฉีกขาดของหลอดเลือดที่ทอดผ่านไปยังรก หรือมดลูกแตก เป็นต้น

ระยะหลังคลอด อาจเกิดจากมดลูกบีบรัดตัวไม่ดี มีการฉีดขาดของช่องคลอด เศษรกค้าง หรือกลไกของการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ตลอดจนมีการอักเสบของเยื่อบุโพรงมดลูก

๒. เลือดออกทางช่องคลอดที่ไม่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์

ภาวะที่พบบ่อยมีดังนี้

            (๑) เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ มักเกิดขึ้นหลังจากประจำเดือนหยุดใหม่ๆ หลังแท้ง หรือหลังคลอด
            (๒) โรคเยื่อบุมดลูกหนา พบได้ในหญิงทุกอายุ แต่พบบ่อยในระยะเข้าวัยเจริญพันธุ์และระยะเข้าวัยหมดประจำเดือน
            (๓) เนื้องอกของมดลูกบางชนิดทำให้มีเลือดออกผิดปกติได้ เช่น เนื้องอกในกล้ามเนื้อของมดลูก (ทำให้มีเลือดออกมาก) เนื้องอกในโพรงมดลูกและติ่งเนื้อเล็กๆ ในโพรงมดลูก ซึ่งทำให้มีเลือดออกนานหลายวันได้ เป็นต้น
            (๔) โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ มักมีเลือดออกผิดปกติร่วมกับมีอาการปวดประจำเดือนอย่างรุนแรง
            (๕) มะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มแรกอาจไม่มีอาการ หรือมีอาการตกขาวบ้างเล็กน้อย ระยะต่อมาอาจมีเลือดออกภายหลังการร่วมเพศ ในรายที่เป็นมาก จะมีเลือดออกมาติดต่อกันเป็นเวลานาน มีกลิ่นเหม็น พบมากที่สุดในวัยเจริญพันธุ์ หรือวัยใกล้หมดประจำเดือน
            (๖) มะเร็งของตัวมดลูกมีเลือดออกสีช้ำเลือดช้ำหนอง อาจมีกลิ่นเหม็นร่วมด้วย พบบ่อยในหญิงสูงอายุ
            (๗) เลือดออกหลังจากการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดโดยไม่ถูกต้อง หรือหลังจากการฉีดยาคุมกำเนิด ซึ่งพบได้บ่อยในปัจจุบัน
            (๘) การอักเสบของช่องคลอดในคนสูงอายุ ทำให้เลือดออกได้ แต่ก็ต้องนึกถึงโรคมะเร็งไว้ด้วยเสมอ
            (๙) เลือดออกในหญิงวัยหมดประจำเดือนที่กินยาบำรุงชนิดที่มีฮอร์โมนเพศหญิงรวมอยู่ด้วยเป็นระยะเวลานานหลายเดือน