ความหมายของการคุมกำเนิด
การคุมกำเนิด หมายถึง การป้องกันการปฏิสนธิ (conception) แต่อาจหมายความอย่างกว้างๆ ว่า การป้องกันการตั้งครรภ์ ซึ่งแบ่งได้เป็น ๒ ชนิดใหญ่ๆ คือ
๑. การคุมกำเนิดแบบชั่วคราว (temporary or reversible contraception) ได้แก่ วิธีที่มีผลเฉพาะขณะที่ ใช้ เมื่อเลิกใช้แล้วผู้ใช้จะกลับตั้งครรภ์ได้ตามปกติ
๒. การคุมกำเนิดแบบถาวร (permanent contraception) ได้แก่ วิธีป้องกันการตั้งครรภ์แบบถาวรตลอดไป เช่น การทำหมันแบบต่างๆ
ปัจจุบันการคุมกำเนิดหรือการป้องกันการตั้ง ครรภ์ มักจะใช้กันในความหมายที่กว้างมาก โดยถือเอาเวลาก่อนหรือหลังการตั้งครรภ์ หรือการอยู่ร่วมกันเป็นเกณฑ์ ซึ่งอาจแบ่งได้ดังนี้ คือ
๑. ก่อนการปฏิสนธิ
๒. ก่อนการอยู่ร่วมกัน
๓. หลังการอยู่ร่วมกัน หมายถึง ระยะเวลา ภายใน ๒๔-๔๘ ชั่วโมงแรก หลังการอยู่ร่วมกัน
๔. ก่อนการขาดประจำเดือน หมายถึงระยะ เวลาหลังการอยู่ร่วมกัน แต่ก่อนที่จะถึงกำหนดที่ควรมีประจำเดือน
๕. ภายใน ๒ สัปดาห์แรกที่เริ่มขาดประจำเดือน ระยะนี้บางแห่งถือว่ายังไม่ทราบแน่ว่าจะตั้งครรภ์หรือไม่ จึงอาจมีวิธีการบังคับให้ประจำเดือนมาได้ หรือ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "การขับประจำเดือน" ซึ่งคล้ายคลึงกับ "การปรับประจำเดือน" (menstrual regulation) ในปัจจุบัน
๖. ระยะที่ทราบว่าตั้งครรภ์แน่นอนแล้ว หรือ เมื่อขาดประจำเดือนเลย ๒ สัปดาห์ ซึ่งการป้องกันการตั้งครรภ์ในระยะนี้ ย่อมหมายถึง การทำแท้งนั่นเอง กฎหมายไทยในปัจจุบัน อนุญาตให้ทำแท้งได้เมื่อการตั้งครรภ์นั้นจะมีผลร้ายต่อสุขภาพของหญิง หรือเป็นการตั้งครรภ์จากการถูกข่มขืนเท่านั้น
แม้การคุมกำเนิดจะมีมานานตั้งแต่สมัยอียิปต์ โบราณกว่า ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว และได้มีการปรับปรุงและ คิดค้นหาวิธีใหม่อยู่ตลอดมา ก็ยังไม่มีวิธีใดที่ดีพร้อม และเหมาะสมสำหรับทุกคน จึงจำเป็นต้องมีวิธีคุมกำเนิดหลายวิธีไว้สำหรับเลือกใช้
การที่จะพิจารณานำวิธีใดมาใช้นั้น ต้องคำนึงถึง การยอมรับของสังคมด้วย วิธีที่มีผู้นิยมใช้โดยสม่ำเสมอ แม้ประสิทธิภาพจะไม่ดีนัก ยังได้ผลดีกว่าวิธีที่มีประสิทธิภาพดีเยี่ยมแต่ไม่มีผู้นิยมใช้