เล่มที่ 9
วิธีการทางการแพทย์ในการควบคุมการเจริญพันธุ์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การคุมกำเนิดแบบถาวร

            คู่สามีภรรยาที่มีลูกเพียงพอแล้ว และไม่ต้องการที่จะมีลูกอีก สามารถป้องกันการมีลูกได้ตลอดไป โดยการคุมกำเนิดแบบถาวร นั่นคือ การทำหมัน ซึ่ง ได้แก่ การทำหมันหญิง และการทำหมันชาย

การทำหมันหญิง


            ประเทศไทยไม่มีกฎหมายบังคับเกี่ยวกับเรื่อง การทำหมันหญิงโดยเฉพาะ แต่จะแตกต่างกันไปบ้าง ตามดุลยพินิจของแต่ละสถาบัน และมีการดัดแปลงให้ เหมาะสมกับสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคม หรือแม้แต่เหตุผลทางการเมืองในบางครั้ง อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน มีแนวโน้มที่จะลดกฎต่างๆ ลง และมักมิได้ถือกฎเกณฑ์ เคร่งครัดนัก เพราะเหตุผลในการตัดสินใจที่จะมีลูกกี่คนนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับความต้องการ และความจำเป็นของแต่ละครอบครัว ซึ่งไม่เหมือนกัน

            อย่างไรก็ตาม การทำหมันหญิงควรทำเมื่อมีลูก เพียงพอแล้ว หรือทำในหญิงที่ไม่สมควรจะมีลูก เนื่องจากเหตุผลทางการแพทย์ หรือทางพันธุศาสตร์

การทำหมันหญิง แบ่งออกได้กว้างๆ ตามระยะ เวลาที่ทำ คือ

            ๑. การทำหมันหลังคลอด เป็นวิธีที่นิยมทำกัน มาเป็นเวลานานไม่ต่ำกว่า ๕๐ ปี เนื่องจากในระยะ ๒๔-๔๘ ชั่วโมง หลังคลอด มดลูกยังคงมีขนาดใหญ่ ง่ายต่อการทำผ่าตัด

            ๒. การทำหมันในขณะที่ไม่ตั้งครรภ์ หรือการ ทำหมันแห้ง ได้แก่ การทำหมันในขณะที่มิได้ตั้งครรภ์ หรือคลอด ภาษาชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า "หมันแห้ง" ซึ่งเป็นคำใหม่เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ โดยเป็นคำที่คนไข้ที่มาทำหมันตั้งขึ้นเอง และเป็นที่เข้าใจและยอมรับกันทั่วไป ไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัดถึงเหตุผลของผู้ที่ตั้งชื่อนี้ แต่สันนิษฐานกันว่า คงเนื่องจากผู้ตั้งต้องการให้เห็นว่า ลักษณะของการทำหมันประเภทนี้ แตกต่างจากการทำหมันในระยะหลังคลอด เพราะขณะหลังคลอดหญิงจะมีน้ำคาวปลา (lochia) เปรอะเปื้อน หรือ "เปียก" ที่บริเวณปากช่องคลอด แต่การทำหมันในระยะที่ไม่เกี่ยวข้องกับการคลอดนั้น อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก "แห้ง"

            คำใหม่นี้แม้ฟังดูจะไม่มีเหตุผลดีนัก แต่วงการ แพทย์ไทยก็ยอมรับคำ "หมันแห้ง" กันทั่วไป เนื่องจากเป็นคำที่สั้นกะทัดรัดดี ยังไม่มีผู้ใดที่คิดจะเปลี่ยนแปลงคำนี้

            ๓. การทำหมันในกรณีพิเศษร่วมกับการผ่าตัด อื่นๆ เช่น การทำหมันร่วมกับการผ่าตัดเอาเด็กออก ทางหน้าท้อง (caesarean section) ร่วมกับการผ่าตัดทาง นรีเวชวิทยา ฯลฯ

วิธีทำหมันหญิง

            การทำหมันหญิงที่ทำกันโดยทั่วไป คือ การทำให้ปีก มดลูกตันทั้ง ๒ ข้าง เพื่อตัดทางที่เชื้ออสุจิจะพบกับไข่ ซึ่งการที่จะเข้าไปทำได้ก็มักต้องผ่านเข้าไปในช่องท้อง (ยกเว้นบางวิธีที่ไม่ต้องผ่านเข้าช่องท้อง ซึ่งบางวิธี กำลังอยู่ระหว่างการศึกษา และบางวิธีได้เลิกไปแล้ว)

การผ่าตัดทำหมันจึงอาจแยกได้เป็น ๒ ตอน คือ วิธีผ่านเข้าไปถึงปีกมดลูก และวิธีทำให้ปีกมดลูกตัน

การผ่านเข้าไปถึงปีกมดลูก อาจทำได้โดย

            ๑. ผ่านเข้าทางหน้าท้อง (abdominal approach) ซึ่งอาจทำได้โดย

            ก. การผ่าท้อง (laparotomy) ซึ่งหากเป็น ระยะหลังคลอด ก็จะทำได้โดยเปิดหน้าท้องเป็นแผล แคบๆ ประมาณ ๒-๓ เซนติเมตร ต่ำกว่าระดับสะดือ เล็กน้อย เพราะมดลูกหลังคลอดใหม่ๆ ยังมีขนาดใหญ่

            หากเป็นการทำหมันแห้ง มดลูกอยู่ลึกในอุ้ง เชิงกราน การทำโดยวิธีธรรมดาจะต้องเปิดหน้าท้องกว้าง
จึงจะใส่มือเข้าไปถึงมดลูกได้ แต่ก็อาจผ่าเป็นแผลเล็กๆ เพียง ๓-๔ เซนติเมตรได้ โดยใช้เครื่องมือสอด ผ่านเข้าทางปากมดลูก (ผ่านทางช่องคลอด) เพื่อดัน และยกมดลูกให้สูงขึ้นมาจนสามารถจับปีกมดลูกได้โดย ง่าย วิธีนี้เรียกว่า การผ่าตัดแบบย่อ (mini-laparotomy)

            ข. การใช้กล้องส่องผ่านเข้าทางหน้าท้อง (laparoscopy) โดยใช้กล้องเล็กๆ ขนาดโตกว่าดินสอดำ ไม่มากนัก สอดผ่านหน้าท้องบริเวณล่างของสะดือ (หรือบริเวณใกล้เคียง) เข้าไปส่องดูปีกมดลูกและสอด เครื่องมือที่จะทำให้ปีกมดลูกตันเข้าไปทางกล้องนี้ หรือ เจาะผ่านทางหน้าท้องอีกรูหนึ่ง วิธีนี้นิยมทำในการทำ หมันแห้ง แผลที่เกิดจากวิธีนี้เป็นเพียงแผลเล็กๆเกือบ มองไม่เห็น

            ๒. ผ่านเข้าทางช่องคลอด (vaginal approach) ทำเฉพาะในการทำหมัน โดย

            ก. การเปิดแผลเล็กๆ ที่บริเวณตอนบน ของช่องคลอด (colpotomy) ซึ่งแผลนี้จะเปิดติดต่อกับ ช่องท้อง และสามารถใส่เครื่องมือเข้าไปจับปีกมดลูก ดึงออกมาเพื่อทำให้ตันได้

            ข. การใช้กล้องส่องผ่านเข้าทางตอนบน ของช่องคลอด (culdoscopy)

การทำให้ปีกมดลูกตัน อาจทำได้โดย

            ๑. โดยการผูกหรือตัดปีกมดลูกด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งจะไม่กล่าวถึงรายละเอียดในที่นี้
            ๒. โดยการจี้ด้วยไฟฟ้า ซึ่งมีเทคนิคปลีกย่อย หลายวิธีเช่นเดียวกัน
            ๓. โดยการใช้คลิปหนีบ หรือใช้ห่วงรัดปีกมด ลูก ขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษา เป็นวิธีที่ทางแพทย์ คาดว่าจะดีมากวิธีหนึ่ง และได้เริ่มใช้แล้วในบางประเทศ
            ๔. วิธีอื่นๆ ซึ่งอยู่ในระหว่างทดลอง เช่น การ ใช้สารเคมี

            การทำให้ปีกมดลูกตันนี้ ส่วนมากต้องการให้ ตันถาวร แต่ก็มีบางวิธีที่พยายามจะแก้ไขให้ปีกมดลูก เปิดได้อีกเมื่อต้องการ (reversible) แต่มักจะมีผลเสียตาม มา คือ ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์จะ เลวลง
แผนภาพแสดงวิธีการทำหมันหญิง
แผนภาพแสดงวิธีการทำหมันหญิง
การปฏิบัติตัวก่อนและหลังการผ่าตัด

            แม้ว่าการผ่าตัดทำหมันจะเป็นเพียงการผ่าตัดเล็กๆ เท่านั้น แพทย์ก็จะต้องมีการตรวจสุขภาพคนไข้ว่า สมบูรณ์พอที่จะทำผ่าตัดหรือไม่ ฯลฯ นอกจากนั้น คนไข้จะต้องได้รับคำแนะนำในการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดด้วย

            หลังการผ่าตัด สำหรับการผ่าตัดทำหมันหลังคลอด การปฏิบัติตัวของคนไข้ ไม่มีอะไรแตกต่างไปจากการปฏิบัติตัวหลังคลอดโดยทั่วไป

            สำหรับการทำหมันแห้ง โดยวิธีการผ่าตัดแบบย่อ หรือโดยกล้องส่องทางหน้าท้องและทางช่องคลอด คนไข้จะรู้สึกเกือบเป็นปกติในวันรุ่งขึ้น และส่วนมาก จะกลับทำงานได้ตามปกติ ยกเว้นผู้ที่ทำงานหนัก เช่น งานแบกหาม ฯลฯ ซึ่งอาจต้องหยุดพักงานหนักประมาณ ๑-๒ สัปดาห์

            เกี่ยวกับการหลับนอนกับสามี ถ้าเป็นการผ่าตัด ทางหน้าท้อง หรือการใช้กล้องส่องทางหน้าท้อง ใช้เวลารักษาแผลประมาณ ๑ สัปดาห์ เมื่อแผลหายแล้วก็ สามารถอยู่ร่วมกันได้ตามปกติ แต่ถ้าเป็นการผ่าทาง ช่องคลอด ควรงดเว้นการร่วมหลับนอนประมาณ ๓-๔ สัปดาห์หลังผ่าตัด

สุขภาพภายหลังการทำหมันหญิง

            สุขภาพของหญิงที่ทำหมันจะไม่มีการเปลี่ยน แปลงใดๆ เลย มักมีผู้เข้าใจผิดว่าการทำหมันจะทำให้ มีการเฉื่อยชา อ้วน ฯลฯ โดยเอาไปเปรียบเทียบกับการ ตอนสัตว์ ซึ่งเป็นการกระทำคนละจุดมุ่งหมาย การทำ หมันนั้นไม่เหมือนกับการตอน เพราะมิได้เอารังไข่ออก หญิงที่ทำหมันยังคงมีฮอร์โมนเพศตามปกติ หากจะมี การเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น มักเกี่ยวเนื่องจาก ความกังวลและความกลัวผิดๆ เป็นเหตุ

            หญิงที่ทำหมันแล้ว โดยทั่วไปมักมีสุขภาพดี เพราะหมดกังวลเรื่องกลัวการตั้งครรภ์ และมีเวลา พักผ่อนมากขึ้นเมื่อลูกโตหมดแล้ว

การทำหมันชาย

            การทำหมันชาย คือ การผูกตัดท่อนำเชื้ออสุจิ ซึ่งทำได้ง่าย สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อย และปลอดภัยมาก

            บางตอนของท่อนำเชื้ออสุจิอยู่ตื้น และเรา สามารถคลำได้ที่บริเวณอัณฑะทั้งสอง เมื่อใช้เครื่อง มือจับท่อนั้นได้แล้ว จึงกรีดผิวหนังบริเวณที่คลุมท่อนี้ เป็นแผลเล็กๆ พอที่จะผูกและตัดท่อได้ และเย็บปิด แผลเพียง ๑ หรือ ๒ เข็มเท่านั้น

            การทำผ่าตัดนี้ใช้เพียงยาชาเฉพาะที่เท่านั้น เมื่อ ทำผ่าตัดเสร็จ คนไข้จึงกลับบ้านได้ทันที

            ปัจจุบันนี้มีผู้พยายามคิดค้นทำให้ท่อน้ำเชื้ออสุจิ ตันโดยวิธีต่างๆ เช่น โดยการจี้ด้วยกระแสไฟฟ้า การ ใช้คลิปหนีบท่อไว้ และการใช้สารบางอย่างอุดท่อให้ตัน เป็นต้น

            นอกจากนี้ ยังมีผู้พยายามให้การทำหมันชาย เป็นการทำหมันแบบชั่วคราว คือ สามารถทำให้ท่อนำ เชื้ออสุจิเปิดใหม่ได้อีกเมื่อต้องการ แต่ยังไม่ได้ผลดีนัก
แผนภาพแสดงวิธีการทำหมันชาย
แผนภาพแสดงวิธีการทำหมันชาย
อาการแทรกซ้อนของการทำหมันชาย

โดยทั่วไปอาการแทรกซ้อนจากการทำหมันชาย มีน้อยมาก และมักเป็นเพียงอาการเล็กๆน้อยๆเท่านั้น อาการที่พบ คือ

            ๑. อาการเจ็บที่แผล
            ๒. อาการบวมที่ลูกอัณฑะ
            ๓. การอักเสบหรือติดเชื้อของแผล
            ๔. เลือดออกคั่งอยู่ในลูกอัณฑะ อาการนี้อาจ รุนแรงได้ถ้าปล่อยทิ้งไว้นาน แต่พบน้อยมากถ้าทำโดยผู้ชำนาญ
            ๕. สเปิร์มแกรนูโลมา (sperm granuloma) คือ การมีแกรนูโลมาเกิดบริเวณที่ทำผ่าตัด แต่มักไม่มีอาการ ผิดปกติ

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำหมันชาย

            ๑. มีผู้เกรงไปว่า การทำหมันชายจะทำให้ ฮอร์โมนเพศชายลดต่ำลง แต่จากการศึกษาพบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง
            ๒. มีผู้เข้าใจว่า การทำหมันชายจะทำให้ สมรรถภาพทางเพศหรือความรู้สึกทางเพศเปลี่ยนแปลง ความจริงการทำหมันไม่มีผลโดยตรงต่อสมรรถภาพ หรือความรู้สึกทางเพศเลย นอกจากจะมีผลทางด้านจิตใจ เช่น เมื่อแน่ใจว่า ไม่ต้องระวังเรื่องมีลูก ความต้องการทางเพศจึงเพิ่มขึ้น เพราะมีความสบายใจ ไม่ต้องกังวลว่า ภรรยาหรือหญิงที่ตนมีความสัมพันธุ์ด้วย จะตั้งครรภ์ได้

            ในทางตรงข้าม บางรายเกิดความรู้สึกไปในทางลบ เพราะเมื่อเห็นว่าตนมีลูกไม่ได้แล้ว จึงคิดว่า สมรรถภาพทางเพศจะลดตามไปด้วย

หลักเกณฑ์ในการทำหมัน

            ๑. คู่สามีภรรยายินยอมและลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน แต่บางครั้งก็จำเป็นต้องมีข้อยกเว้น เช่น สำหรับหญิงที่ไม่มีสามีเป็นตัวเป็นตนแน่นอน

            ๒. จำนวนลูกที่ยังมีชีวิตอยู่ ส่วนมากมักถือ จำนวน ๒-๓ คนเป็นเกณฑ์บางแห่ง เช่น โรงพยาบาล ศิริราชถือจำนวนลูก ๓ คน สำหรับผู้ที่จะทำหมันหลัง คลอดใหม่ (รวมคนที่คลอดใหม่ด้วย) ส่วนการทำหมัน แห้งจะอนุญาตให้ทำได้เมื่อมีลูกแล้ว ๒ คน และลูก คนที่ ๒ อายุไม่ต่ำกว่า ๑ ปี ทั้งนี้เพราะระยะขวบปีแรก เป็นระยะที่อัตราการตายของเด็กยังสูง

            ๓. อายุของภรรยาหรือหญิงที่จะทำหมัน มี หลายประเทศกำหนดอายุขั้นต่ำไว้ด้วย แต่ในประเทศไทยถือว่า ถ้ามีจำนวนลูกตามเกณฑ์แล้ว ก็ไม่จำเป็น ต้องคำนึงถึงอายุ

            ๔. เหตุผลทางแพทย์หรือพันธุกรรม ในราย ที่มีเหตุผลทางแพทย์หรือพันธุกรรม ไม่จำเป็นต้อง คำนึงถึงกฎเกณฑ์ทั้ง ๓ ข้อที่กล่าวมาแล้ว

การคุมกำเนิดด้วยวิธีต่างๆ ทั้งที่เป็นแบบชั่วคราวและแบบถาวรจะเป็นวิธีที่ดีพร้อมได้ ถ้าประกอบ ด้วยคุณสมบัติดังนี้

            ๑. มีประสิทธิภาพสูง
            ๒. ปลอดภัย และมีอาการแทรกซ้อนน้อย
            ๓. การเจริญพันธุ์ กลับสู่ภาวะปกติภายหลัง เลิกใช้ (ถ้าเป็นวิธีชั่วคราว)
            ๔. วิธีใช้ง่ายและสะดวก
            ๕. มีผู้นิยมใช้มาก
            ๖. ราคาถูก