เล่มที่ 9
รังสีวิทยา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            รังสีวิทยา (radiology) คือ วิชาที่ว่าด้วยการนำเอารังสีต่างๆ ตลอดไปจนถึงพลังงานในรูปอื่นๆ เช่น คลื่นเสียง มาใช้ประโยชน์แก่มนุษย์ วิชานี้เริ่มขึ้นในโลก เมื่อมีการค้นพบรังสีเอกซ์ เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๘ โดยศาสตราจารย์วิลเฮลม์ คอนราด เรินต์เกน (Wilhelm Konrad Roentgen, ค.ศ. ๑๘๔๕-๑๙๒๓ ชาว เยอรมัน) อาจารย์สอนวิชาฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัย วูร์ซบูร์ก (Wurzburg) ประเทศเยอรมนี ในเวลาใกล้ๆกัน แบ็กเกอแรล (Antoine Becquerel, ค.ศ. ๑๘๕๒-๑๙๐๘ ชาวฝรั่งเศส) ค้นพบว่า แร่ยูเรเนียมมีกัมมันตภาพรังสี และมาดามกูรี (Madame Marie Curie, ค.ศ. ๑๘๖๗- ๑๙๓๔ ชาวฝรั่งเศส) ค้นพบแร่กัมมันตรังสีเรเดียม
ฟิล์มเอกซเรย์มือแบบที่เรินต์เกนค้นพบโดยบังเอิญ
ฟิล์มเอกซเรย์มือแบบที่เรินต์เกนค้นพบโดยบังเอิญ
            รังสีที่เรินต์เกนค้นพบนี้ เขาเรียกว่า รังสีเอกซ์ หรือเอกซเรย์ (X-rays) หมายความว่า เป็นรังสีใหม่ที่ยังไม่มีใครรู้จัก ในภายหลัง จึงมีผู้เรียกรังสีเอกซ์นี้ว่า รังสีเรินต์เกน เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบ รังสีเรินต์เกน มีคุณสมบัติทางกายภาพหลายอย่าง ที่ทำให้มีลักษณะ ทั้งเหมือนและทั้งแตกต่างจากรังสีอื่นๆ ซึ่งจะนำมากล่าวถึงโดยละเอียด ในภายหลัง


            เรินต์เกนพบว่า รังสีเอกซ์นี้สามารถฉายทะลุวัตถุ ทึบแสง เช่น ร่างกายมนุษย์ได้ เขาจึงลองเอารังสีเอกซ์ มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยฉายรังสีเอกซ์ผ่าน มือคน เนื้อ เอ็น และกระดูกในมือคน ก็จะกั้นเอารังสีไว้ บางส่วนปล่อยให้ผ่านไป บางส่วนส่วนเนื้อและเอ็นกั้น รังสีได้น้อยก็มีรังสีผ่านออกมามาก กระดูกกั้นรังสีได้มาก ก็มีรังสีเหลือผ่านออกมาน้อย รังสีทั้งหมดที่ผ่านมือ ออกมาจึงมีความเข้มต่อพื้นที่ไม่เท่ากัน ทำให้เกิดเป็นรูปแบบ (pattern) ของความเข้มของรังสีในรูปมือขึ้น เมื่อ เอารังสีที่มีรูปแบบแล้วนี้ไปกระทบวัสดุที่ไวต่อแสง เช่น ฟิล์มถ่ายรูปหรือกระดาษอัดรูป (photographic material) แล้วนำไปล้างด้วยน้ำยาล้างรูป ก็จะเกิดภาพของมือที่มีกระดูกซ้อนอยู่ในเนื้อด้วย แพทย์จึงสามารถบอกได้ว่า กระดูกข้างในมือนั้นหักหรือไม่ โดยจำเป็นต้องผ่าเอา เนื้อที่หุ้มกระดูกออกมาดู