เล่มที่ 9
รังสีวิทยา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การป้องกันและการรักษา

            การเปลี่ยนแปลงของเซลล์ทั่วไป ทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของผิวหนังและเนื้อเยื่อข้างใต้ และอาจเกิด แผลได้ ถ้าขนาดสูงมาก การรักษา คือ ป้องกันโรค ติดเชื้อที่จะเกิดกับแผลและการผ่าตัดพลาสติกตกแต่ง

การเปลี่ยนแปลงของเซลล์สืบพันธุ์ รักษาไม่ได้ การป้องกันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เราทำได้โดยใช้หลักกว้างๆ คือ

            ๑. เวลา (time) จำกัดเวลาที่ต้องถูกรังสีให้สั้นที่สุด

            ๒. ระยะห่าง (distance) ถ้าใช้ระยะห่างจาก แหล่งกำเนิดรังสีมากที่สุดจะได้รับรังสีน้อยที่สุด

            ๓. เครื่องป้องกัน (shielding) ใช้วัตถุต่างๆ ที่ สามารถดูดซึมรังสีได้ มากั้นไว้ตรงกลางระหว่างร่างกาย กับแหล่งกำเนิดของรังสี เช่น การใส่เสื้อตะกั่วกันรังสี หรือการใช้ฉากป้องกันรังสี

            ๔. สำหรับรังสีแพทย์และผู้มีอาชีพทางรังสีวิทยา จำเป็นต้องใช้เครื่องวัดรังสี เช่น ฟิล์มวัดรังสี (film badge) ติดตัวไว้ ตลอดเวลาทำงาน เพื่อวัดจำนวน รังสีที่ร่างกายได้รับโดยไม่รู้ตัว

            ๕. ผู้มีอาชีพทางรังสีวิทยา จำเป็นต้องเป็นผู้มีความรู้เรื่องการป้องกันอันตรายจากการแผ่รังสีด้วย จึงจะปลอดภัย

            รังสีเอกซ์มีทั้งคุณและโทษดังกล่าวแล้ว แต่ถ้าใช้โดยรังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางแล้ว ก็อาจใช้ได้ โดยปลอดภัย ฉะนั้น เราจึงไม่ควรตื่นกลัว จนไม่กล้า ใช้รังสีเอกซ์ในทางแพทย์ เพราะรังสีวิทยาในปัจจุบันได้ เจริญก้าวหน้าไปมาก จนสามารถควบคุม โดยผู้มีความรู้ ให้ใช้ประโยชน์ได้โดยปลอดภัย จะเห็นได้ว่า อันตรายต่างๆ ที่พบกันบ่อยๆ ในสมัยโบราณ แต่ครั้งเรินต์เกนค้นพบรังสีเอกซ์ใหม่ๆ นั้น เป็นสิ่งที่หาดูได้ยากเสียแล้วในปัจจุบัน

อีกประการหนึ่ง อันตรายที่จะเกิดขึ้นแน่นอนกว่านั้น คือ อันตรายจากการรักษาโดยไม่ใช้รังสีวิทยา