เล่มที่ 9
รังสีวิทยา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ประโยชน์ของรังสีเอกซ์ทางการแพทย์

            รังสีเอกซ์ เป็นรังสีที่มีทั้งคุณและโทษ แต่ถ้านำมาใช้เป็นประโยชน์ทางแพทย์ โดยรังสีแพทย์ ผู้มีความรู้ในการป้องกันอันตรายจากการแผ่รังสี ก็จะใช้ได้โดยไม่เกิดอันตราย

รังสีวินิจฉัย

            รังสีเอกซ์ เมื่อฉายทะลุอวัยวะที่ต้องการตรวจแล้ว จะเกิดเป็นรูปแบบขึ้นบนฟิล์มเอกซเรย์ เมื่อนำฟิล์มเอกซ์เรย์ไปล้างตามกรรมวิธี จะได้ภาพทั้งภายนอก และภายในของอวัยวะ เช่น กระดูกที่ฝังอยู่ในเนื้อ หรือแผลวัณโรคที่อยู่ในเนื้อปอด ทำให้วินิจฉัยโรคได้ โดยไม่ต้องผ่าอวัยวะนั้นเข้าไปดูภายใน ถ้าฉายรังสีที่มีรูปแบบแล้วนี้ ไปถูกกระจกที่ฉาบด้วยแบเรียมแพลติโนไซอะไนต์ หรือแคลเซียมทังสเตตในห้องมืด ก็จะเห็นภาพของอวัยวะภายในได้ทันที แต่ภาพนี้ไม่ค่อยจะชัดนัก เพราะแสงเรืองที่เกิดขึ้นนั้นอ่อนมาก จึงต้องดูในห้องมืด และรังสีแพทย์ผู้ตรวจต้องปิดตา หรืออยู่ในห้องมืดเสียก่อนราว 20 นาที จนตาคุ้นกับความมืด จึงจะดูเห็น การตรวจด้วยวิธีนี้เรียกว่า ฟลูออไรสโคปี (fluoroscopy) ซึ่งในปัจจุบันนี้ มีผู้นำภาพจากแสงเรืองๆ ในห้องมืดนี้ มาฉายผ่านเครื่องปรับความเข้มของแสงที่เรียกว่า อิเมจอินเทนซิไฟ เออร์ (image intensifler) แล้วนำสัญญาณภาพไปฉายออกทางจอโทรทัศน์ ทำให้รังสีแพทย์ทำการตรวจอวัยวะภายใน โดยการทำฟลูออโรสโคปีในห้องที่มีแสงสว่างธรรมดาได้ และชัดเจนกว่าการทำในห้องมืด

เครื่องทำฟลูออโรสโคพีชนิดที่ใช้เครื่องปรับความเข้มของแสงและโทรทัศน์วงจรปิดเครื่องทำฟลูออโรสโคพี ชนิดที่ใช้เครื่องปรับความเข้มของแสง และโทรทัศน์วงจรปิด


            การตรวจด้วยวิธีนี้ รังสีแพทย์จะเห็นการเคลื่อนไหวของอวัยวะภายในได้สะดวก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ การตรวจกระเพาะอาหาร ลำไส้ และถุงน้ำดี

อวัยวะบางอย่างที่ตรวจพบได้ไม่ชัดเจน แพทย์ อาจทำให้เห็นชัดเจนขึ้นได้ โดยใช้สารทึบแสงบางอย่าง สารเหล่านี้พอจะจำแนกได้ ดังนี้

            ๑. สารทึบแสงที่ทึบน้อยกว่าเนื้อ ได้แก่ ก๊าซ ต่างๆ เช่น อากาศ คาร์บอนไดออกไซด์ และไนทรัสออกไซด์
            ๒. สารทึบแสงที่ทึบมากกว่าเนื้อ ได้แก่ สาร ประกอบไอโอดีน และแบเรียมซัลเฟต (barium sulphate)

เทอร์โมกราฟี (Thermography)

            คือ การถ่ายรูปโดยใช้แสงอินฟราเรด (infrared) ซึ่งแสดงรูปแบบของอุณหภูมิของผิวหนังตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยมีสมมุติฐานว่า ร่างกายส่วนใดมีก้อนมะเร็งอยู่ข้างใต้ผิวหนัง ส่วนนั้นจะมีอุณหภูมิสูงกว่าที่ผิวหนังส่วนอื่นๆ
เครื่องไมโครเวฟเทอร์โมกราฟี
เครื่องไมโครเวฟเทอร์โมกราฟี
ไมโครเวฟเทอร์โมกราฟี (Microwave Thermography)

            เทอร์โมกราฟีแบบธรรมดาที่กล่าวมาแล้ว ใช้แสงอินฟราเรด ซึ่งมีอำนาจทะลุทะลวงต่ำ จึงเหมาะที่จะวัดและทำแผนที่ของอุณหภูมิที่ผิวหนัง แต่ไมโครเวฟเทอร์โมกราฟีสามารถวัดอุณหภูมิได้ลึกลงไปในเนื้อ มากกว่าแบบธรรมดา คือวัดได้ลึกลงไป ราว ๑ เซนติเมตร ในเนื้อ และ ๘ เซนติเมตร ในไขมันและในกระดูก
ข้อเสียของไมโครเวฟเทอร์โมกราฟี คือ ภาพที่ ได้ไม่ค่อยชัด

โทโมกราฟี (Thermography or Bodysection)

            คือ การถ่ายภาพเอกซเรย์ให้เห็นชัดเฉพาะในระนาบที่ต้องการดูเพียงระนาบเดียว โดยให้ส่วนอื่นๆ ที่อยู่นอกระนาบที่ต้องการดูพร่ามัวไปหมด วิธีถ่าย คือ จัดให้หลอดเอกซเรย์ และกล่องใส่ฟิล์มเอกซเรย์ มีการเคลื่อนไหวไปในทิศทาง และด้วยความเร็วที่มีส่วนสัมพันธ์กันตลอดเวลา โดยมีจุดหมุนระหว่างหลอดเอกซเรย์ กับกล่องใส่ฟิล์มเอกซเรย์ หยุดนิ่งอยู่ในระนาบของร่างกายที่เราต้องการดู การเคลื่อนที่ของหลอด เอกซเรย์และกล่องใส่ฟิล์มเอกซเรย์ มีหลายแบบคือ

            ๑. แบบเส้นตรงซึ่งใช้กันมากโดยทั่วไป
            ๒. แบบเส้นโค้ง
            ๓. แบบก้นหอย
            ๔. แบบวงกลม
            ๕. แบบวงรี
            ๖. แบบไฮโพไซคลอยด์ (hypocycloid) เป็น รูปแบบที่สลับซับซ้อนที่สุด แต่ก็ให้ความละเอียดของ ภาพสูงสุดด้วย
            ๗. โทโมกราฟีแบบตัดขวางลำตัว ใช้หลอด เอกซเรย์ติดไว้สูงๆ ข้างฝาห้อง คนไข้นั่งขี่บนอานด้านขวา และมีกล่องใส่ฟิล์มวางแบนๆ บนถาดกลมด้าน ซ้าย เวลาถ่ายอานและคนไข้ ตลอดจนถาดและกล่องใส่ฟิล์มจะหมุนรอบตัว ไปในทิศเดียวกัน และด้วยอัตราการหมุนคิดเป็นรอบต่อนาทีเท่ากัน ภาพที่ได้เป็นภาพตัดขวางลำตัวของคนไข้ ตรงส่วนที่รังสีเอกซ์วิ่งผ่านไปกระทบฟิล์ม เครื่องแบบนี้เป็นประโยชน์มากสำหรับวาง แผนรังสีรักษาในคนไข้โรคมะเร็ง

โทโมกราฟีแบบต่าง ๆ
แบบ ๑
แบบ ๒
แบบ ๓
แบบ ๔
แบบ ๕
แบบ ๖

            ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ก่อนที่จะมีเครื่องนี้ออกขาย ในตลาด นายแพทย์กุณฑล สุนทรเวช และนายแพทย์ รัชช สมบูรณ์สิน ได้สร้างเครื่องทรานส์แอกเซียลโทโมกราฟี (transaxial tomography) นี้ขึ้นในโรงพยาบาลศิริราช โดยใช้ทุนของสภาวิจัยแห่งชาติ ปัจจุบันเครื่องนี้ไม่ได้ใช้แล้ว เพราะเราสามารถใช้เครื่องเอกซเรย์ คอมพิวเตอร์แบบถ่ายได้ทั้งตัว ถ่ายได้สะดวกกว่า และแม่นยำชัดเจนกว่ามาก
            อนึ่ง เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใหม่ๆ ในปัจจุบัน นอกจากจะถ่ายให้เห็นอวัยวะภายใน เป็นรูปตัดขวางลำตัวอย่างละเอียดแล้ว ยังสามารถคำนวณขนาด ของจำนวนรังสี ที่เข้าไปถึงก้อนเนื้อที่ต้องการรักษา อย่างที่รังสีแพทย์เรียกว่า แผนผังสำหรับรังสีรักษา (isodose curve) ได้ด้วย
เครื่องทำโทโมกราฟีแบบตัดขวางลำตัว
            ในการถ่ายโทโมกราฟีทุกแบบดังกล่าวแล้วนี้ หลอดเอกซเรย์ กล่องใส่ฟิล์มเอกซเรย์ และจุดหมุน จะอยู่ในเส้นตรงอันเดียวกันอยู่ตลอดเวลา

โฟโทฟลูออโรกราฟี (Photofluorography)

            คือ การทำฟลูออโรสโคปี แล้วใช้กล้องถ่ายรูปถ่ายจากจอฟลูออโรสโคปีอีกทีหนึ่ง จะได้ภาพเป็นฟิล์มเล็กขนาด ๗๐ x ๗๐ มิลลิเมตร หรือ ๑๐๐ x ๑๐๐ มิลลิเมตร เพื่อสะดวกรวดเร็ว และประหยัดฟิล์มด้วย จึง เหมาะที่จะใช้ถ่ายเอกซเรย์ปอดสำหรับคนจำนวนมากๆ แบบนี้ดีที่ประหยัด แต่ไม่สามารถให้รายละเอียดได้ เมื่อพบสิ่งผิดปกติแล้ว ต้องศึกษารายละเอียดด้วยฟิล์มขนาดใหญ่อีกทีหนึ่ง

ซีเนเรดิโอกราฟี (Cineradiography)

คือ การถ่ายภาพยนตร์จากจอฟลูออโรสโคปี โดยผ่านเครื่องปรับความเข้มของแสง ที่เรียกว่า อิเมจอินเทนซิไฟเออร์

แมมโมกราฟี (Mammography)

            คือ การเอกซเรย์เต้านม โดยใช้รังสีเอกซ์ ที่มีอำนาจทะลุทะลวงต่ำมาก คือ ประมาณ ๒๐ กิโลโวลต์ และไม่ใช้แผ่นโลหะกรองรังสีเอกซ์หน้าหลอดเลย การถ่ายด้วยวิธีนี้มักใช้ฟิล์มและกล่องใส่ฟิล์มสำหรับการนี้โดยเฉพาะ ทำให้เกิดความคมชัด และเห็นรายละเอียดของพยาธิสภาพภายในของเนื้ออ่อนๆ ของต่อมน้ำนม ท่อน้ำนม หัวนม และลานหัวนม ตลอดจนเส้นเลือดของเต้านมได้ชัดเจนกว่าถ่ายด้วยวิธีธรรมดามาก

การถ่ายรูปจากเทปโทรทัศน์

            ในวารสารรังสีวิทยา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ นานาชาติ เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๒๓ มีรายงานของ เดวิด เอ็ม. ไฮนส์ (David M. Hynes) กับคณะแห่งศูนย์ สุขภาพเซนต์โจเซฟ เมืองโตรอนโต แคนาดา ถึงความสำเร็จในการอัดเทปโทรทัศน์ จากการทำฟลูออโรสโคปี แล้วเลือกถ่ายเฉพาะรูปที่ต้องการจากเทปที่อัดไว้นั้น โดยใช้กล้องถ่ายแบบมัลติฟอร์แมต (multiformat camera) การถ่ายภาพจากเทปโทรทัศน์นี้ ทำให้เกิดผลดี คือ นอกจากประหยัดฟิล์มได้มากแล้ว ยังลดจำนวนรังสีเอกซ์ที่ใช้ ลงมากด้วย
เส้นเลือดบริเวณลำคอและสมอง ซึ่งถ่ายด้วยดิจิทัลคอมพิวเตอร์
เส้นเลือดบริเวณลำคอและสมอง ซึ่งถ่ายด้วยดิจิทัลคอมพิวเตอร์
ดิจิทัลเรดิโอกราฟี (Digital Radiography)

            ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ หลังจากการค้นพบเอกซเรย์ คอมพิวเตอร์ ได้มีการนำเอาดิจิทัลคอมพิวเตอร์มาใช้เก็บข้อมูลของอวัยวะ และนำมาสร้างเป็นภาพขึ้นในจอโทรทัศน์ วิธีนี้ทำให้เราสามารถถ่ายภาพรังสีเอกซ์ของอวัยวะเล็กๆ เช่น เส้นเลือดได้ โดยไม่ต้องฉีดสารทึบแสงเข้าเส้นโลหิตแดง เพียงแต่ฉีดสารทึบแสงจำนวนน้อยๆ (เช่นที่ใช้ในการตรวจไต) เข้าเส้นเลือดโลหิตดำ ที่แขน ซึ่งทำง่ายกว่า และปลอดภัยกว่ามากด้วย
ซีโรเรดิโอกราฟี (Xeroradiography)

            เป็นการถ่ายเอกซเรย์โดยไม่ต้องใช้ฟิล์ม วิธีทำ คือ ใช้แผ่นที่ฉาบด้วยประจุไฟฟ้าสถิต มาบรรจุลงในกล่องกันแสง แล้วเอาถ่ายเอกซเรย์แทนฟิล์มเอกซเรย์ เมื่อถ่ายแล้ว เอาไปผ่านเครื่องล้างแผ่นไฟฟ้าสถิต โดยไม่ต้องใช้ห้องมืด จะได้ภาพอวัยวะของเราออกมาเป็นสีน้ำเงินจางๆ บนแผ่นกระดาษ ส่วนแผ่นไฟฟ้าสถิตนั้น เอากลับไปใช้ซ้ำได้อีกไม่จำกัดจำนวนครั้ง ลักษณะของภาพที่ได้นั้น มีความละเอียดชัดเจนสูง เห็นเนื้อเยื่อ ตลอดจนกระดูกได้พร้อมกันหมด จึงมีประโยชน์มาก
ซีโรเรดิโอแกรม แสดงก้อนมะเร็งในเต้านม
ซีโรเรดิโอแกรม แสดงก้อนมะเร็งในเต้านม
            ในปัจจุบันเราพบว่า ถ้าฉีดสารทึบแสงจำนวนน้อย เข้าในเส้นเลือดดำที่แขน แล้วถ่ายภาพด้วยซีโรเรดิโอกราฟี จะได้ภาพของเส้นเลือด ทั้งเส้นเลือดดำและเส้นเลือดแดง สุดแล้วแต่เวลาของการถ่ายภาพ คุณภาพของภาพที่ได้มานั้นดีมาก จนเป็นที่หวังได้ว่า ในอนาคต วิธีนี้จะนำมาใช้แทนดิจิทัลเรดิโอกราฟีได้
แพนอรัลโทโมกราฟี (Panoral Tomography)

            คือ การถ่ายเอกซเรย์ทั้งปากให้ชัดในระนาบกลางของฟัน โดยใช้การเคลื่อนของกล่องฟิล์มที่ได้ส่วนสัมพันธ์กับการเคลื่อน ของหลอดเอกซเรย์ และให้การเคลื่อนนั้นเป็นแบบเส้นโค้ง ๒ เส้น ที่หันส่วนโค้งเข้าหากัน ภาพเอกซเรย์ที่ได้ แสดงฟันทุกซี่มาเรียงกันเป็นระเบียบ ฟันล่าง และฟันบนทุกซี่จะมารวมกันอยู่ในภาพเดียวกัน จึงเหมาะที่จะใช้ในการจัดฟัน มากกว่าถ่าย เพื่อหาสิ่งผิดปกติ เช่น หาตำแหน่ง และขนาดของฟันผุ

ฟิล์มเอกซเรย์ฟัน เพื่อหาตำแหน่งและขนาดของฟันผุโดยใช้เครื่องแพนอรัลโทโมกราฟีฟิล์มเอกซเรย์ฟัน เพื่อหาตำแหน่งและขนาดของฟันผุ โดยใช้เครื่องแพนอรัลโทโมกราฟี

แพนอรามิกเดนทัลเรดิโอกราฟี (Panoramic Dental Radiography)

            เราอาจถ่ายเอกซเรย์ฟันทั้งปากได้อีกวิธีหนึ่ง โดยสร้างหลอดเอกซเรย์ให้เล็กมากขนาดนิ้วมือ ให้รังสีเอกซ์ออกมาจากตรงปลายหลอด เอาหลอดเอกซเรย์ยื่นเข้าไปในปาก และเอากล่องใส่ฟิล์มอย่างอ่อนและโค้ง มาหุ้มรอบปาก รังสีเอกซ์จากหลอดเอกซเรย์ในปาก จะวิ่งทะลุฟันและผนังปาก ย้อนกลับออกมากระทบฟิล์ม เอกซเรย์ในกล่องภาพที่ได้ จะเป็นภาพขยายที่โตกว่าขนาดจริงของฟัน แสดงภาพของฟันทุกระนาบรวมกัน จึงเหมาะที่จะใช้ถ่าย เพื่อหาฟันผุมากกว่าแพนอรัลโทโมกราฟี

ฟิล์มเอกซเรย์ฟัน แสดงภาพฟันทุกระนาบรวมกันโดยใช้เครื่องแพนอรามิกเดนตัลเรดิโอกราฟีฟิล์มเอกซเรย์ฟัน แสดงภาพฟันทุกระนาบรวมกัน โดยใช้เครื่องแพนอรามิกเดนตัลเรดิโอกราฟี

รังสีรักษา

            คือ การนำรังสีชนิดต่างๆ มาใช้ในการรักษาโรค เนื่องจากรังสีเอกซ์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยาต่อเซลล์ของสิ่งมีชีวิต ถ้าเซลล์ได้รับรังสีเอกซ์ในขนาดสูงมาก จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อม และขนาดสูงพอที่จะทำให้เซลล์ตายได้ ฉะนั้น มนุษย์จึงเอาคุณสมบัติข้อนี้มาใช้ในวิชารังสีรักษา คือ ฉายรังสีเอกซ์ให้เนื้อร้าย เช่น เนื้อมะเร็งตายได้ ทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่ เนื้อมะเร็งก็ถูกล้อมรอบอยู่ด้วยเนื้อดี และเมื่อฉายเนื้อมะเร็งก็จะถูกเนื้อดีข้างๆ ด้วยเสมอ แต่เนื้อ มะเร็งเป็นเซลล์อ่อนเกิดใหม่ เมื่อถูกรังสีก็จะตายง่าย ผิดกับเนื้อดีที่เกิดมาก่อน จึงทนทานต่อรังสีเอกซ์มากกว่า ถ้าเรากะขนาดที่ใช้ให้ดี เนื้อมะเร็งก็จะตาย แต่เนื้อดีรอบๆ จะยังอยู่

เครื่องฉายรังสีแกมมาจากโคบอลต์-๖๐

            เป็นเครื่องฉายสำหรับใช้ในรังสีรักษา รังสีแกมมา มีสมบัติทางกายภาพเหมือนกับรังสีเอกซ์ทุกประการ แต่เป็นรังสีที่เกิดตามธรรมชาติ จากนิวเคลียสของอะตอมของธาตุ ที่มีกัมมันตภาพรังสี เช่น โคบอลต์-๖๐