คุณสมบัติของรังสีเอกซ์ ๑. เดินทางเป็นเส้นตรง ด้วยความเร็วเท่ากับ ความเร็วของแสงสว่างธรรมดา คือ ๑๘๖,๐๐๐ ไมล์ต่อ วินาที หรือ ๓ x ๑๐๑๐ เซนติเมตรต่อวินาที ๒. ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ๓. สามารถฉายให้ผ่านทะลุวัตถุทึบแสง เช่น ร่างกายมนุษย์ได้ ๔. เป็นพลังงานในรูปของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่ไม่มีอนุภาค (particle) จึงไม่มีมวล และไม่มีน้ำหนัก ๕. เมื่อผ่านเข้าไปในวัตถุหรือสสาร (matter) รังสีจะถูกดูดกลืนไปโดยสสารนั้นๆ มากหรือน้อยแล้ว แต่ความหนาแน่นของสสารนั้น ถ้าสสารมีความหนาแน่นมาก เช่น กระดูก ก็ดูดกลืนรังสีเอกซ์ไว้ได้มาก ทำให้รังสีผ่านไปได้น้อย ถ้าสสารมีความหนาแน่นน้อย เช่น อากาศ ก็ดูดกลืนรังสีไว้ได้น้อย ทำให้รังสีผ่านไปได้มาก ๖. เมื่อผ่านไปในอากาศหรือก๊าซ จะทำให้เกิดการปล่อยประจุไฟฟ้า (ionization) ถ้าเราวัดประจุไฟฟ้านี้แล้ว จะนำไปคำนวณจำนวนของรังสีเอกซ์ ที่ผ่านไปในอากาศหรือก๊าซนั้นได้ จึงเป็นการวัดจำนวนรังสีทาง อ้อม ๗. ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อฟิล์มถ่ายรูป หรือ กระดาษอัดรูปได้ เช่น เดียวกับแสงสว่างธรรมดา (photo- graphic effect) ๘. ทำให้เกิดการเรืองแสง (fluorescence) เมื่อฉายกระทบวัตถุบางอย่าง เช่น แบเรียมแพลติโนไซอะไนด์ (barium platinocyanide) แคลเซียมทังสเตต (calcium tungstate) หรือซิงค์ซัลไฟด์ (zine sulphide) เพราะพลังงานจากรังสีเอกซ์ จะเปลี่ยนรูปไปอีก เป็นแสงสว่างธรรมดา ที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ๙. เมื่อฉายผ่านทะลุวัตถุบางอย่าง นอกจากรังสีเอกซ์จะถูกดูดกลืนแล้ว ยังทำให้เกิดรังสีเอกซ์ชนิดใหม่ ที่มีพลังงานน้อยกว่าเดิม และมีทิศทางผิดจากทิศทางเดิมด้วย เรียกว่า เกิด สแคตเทอริงเอฟเฟกต์ (scattering effects) ๑๐. ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยา ต่อเซลล์ของสิ่งมีชีวิต (biological effects) มนุษย์จึงสามารถเอาผลการเปลี่ยนแปลงนี้ มาประยุกต์ใช้ในวิชารังสีรักษา (radiotherapy) ได้ เช่น การรักษาโรคมะเร็งโดยการฉายรังสีเอกซ์ เป็นต้น |