อาการของการติดยาเสพติดและการวินิจฉัย ผู้ที่ติดยาเสพย์ติดจะมีอาการแตกต่างกัน แล้วแต่ชนิดของยา วิธีใช้ และความรุนแรงของการติดนั้น ๑. อาการจากฤทธิ์ของยา ในระยะที่ผู้ใช้ได้รับยาเข้าไปในร่างกาย และยากำลังออกฤทธิ์ ก็อาจปรากฏอาการตามฤทธิ์ของยานั้นๆ ยาที่ทำให้เกิดความมึนเมา เช่น แอลกอฮอล์ ยานอนหลับ และฝิ่น อาจทำให้ผู้ใช้มีอาการซึม ความคิด และการรับรู้สึกเชื่องช้า บางคนอาจมีอาการกระวนกระวาย หรือคลุ้มคลั่งอาละวาดก็ได้ ผู้ใช้ยาที่ทำให้เกิดประสาทหลอน อาจแสดง อาการหวาดกลัว ตื่นเต้น หรือคลุ้มคลั่งได้ สำหรับผู้ใช้ฝิ่น มอร์ฟีน หรือเฮโรอีน จะมีช่องม่านตา หรือช่องดำกลางม่านตาแคบมาก ผู้ที่ใช้ยาจนชินและมีการด้านยาแล้ว อาจไม่ ปรากฏอาการจากฤทธิ์ของยาชัดเจนนักก็ได้ ๒. ร่องรอยของการใช้ยา ผู้ที่ติดเฮโรอีน ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่สูบบุหรี่จัดด้วย มักจะเห็นรอยคราบบุหรี่สีเหลืองที่นิ้วมือ ในคนที่ใช้วิธีฉีดเข้าหลอดเลือด ก็จะมีรอยเข็มตามแนวหลอดเลือดที่แขนหรือขา ผู้ที่ติดฝิ่น จะต้องใช้มือปั้นฝิ่นเป็นเม็ดสำหรับ สูบ จะมีคราบฝิ่นสีดำติดที่นิ้วมือให้เห็นได้ ๓. การเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพของผู้ติดยา ผู้ติดยาเสพติดมักจะไม่สนใจดูแลสุขภาพ และอนามัยของตนเอง มัวแต่สนใจต่อฤทธิ์ของยา และความพยายามที่จะหายามาสนองความอยากของตน ดังนั้นจะเห็นว่า ผู้ติดยาเสพติดมีสุขภาพทรุดโทรม ผอมและซูบซีด ผิวหนัง และเสื้อผ้ามักจะสกปรก ผู้ติดยาเสพติดขั้นรุนแรง มักจะเบื่อหน่ายการ งาน ทำให้ผลงานหรือผลการเรียนด้อยลง มักหนีงาน หรือหนีเรียนบ่อยๆ โดยที่การติดยาเป็นที่รังเกียจของสังคม ผู้ติดยา จึงมักทำตัวลึกลับ บางทีมีความระแวงหรือทุกข์กังวลใจ อยู่เสมอ อารมณ์ก็หงุดหงิดฉุนเฉียว โกรธง่าย พูดจา ก้าวร้าว และขาดเหตุผล ๔. อาการจากการขาดยา หรืออาการถอนยา ผู้ที่หายาไม่ได้ หรือตั้งใจจะเลิกยา สำหรับตัวยาที่มีสภาพร่างกายขึ้นกับยาด้วยแล้ว จะเกิดอาการถอนยาดังได้กล่าวไว้แล้ว ปรากฏให้เห็นได้ ในการตรวจเพื่อวินิจฉัยผู้ติดยานั้น อาจใช้ การกักขังหรือกักบริเวณผู้ต้องสงสัยไว้สักพักหนึ่ง และเฝ้าไม่ให้สามารถไปหายาเสพติดมาใช้ได้ ผู้ที่ติดยาจะ ปรากฏอาการถอนยาขึ้นในเวลา ๔ ถึง ๘ ชั่วโมง ในรายที่ต้องการให้ทราบผลเร็ว อาจใช้ยาที่มี ฤทธิ์ต้านสารเสพติดนั้น เช่น นาลอกโซนและนาลอร์ฟีน (naloxone and nalorphine) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านมอร์ฟีนฉีดให้ กับผู้ต้องสงสัย หากผู้นั้นติดยาพวกฝิ่น มอร์ฟีน หรือเฮโรอีน จะเกิดอาการถอนยาขึ้นทันทีในเวลาไม่กี่นาที ๕. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ส่วนใหญ่ใช้การตรวจปัสสาวะ เพื่อหาสารเสพติดนั้น หรืออนุพันธ์ของสารนั้น ที่ถูกขับถ่ายออกไปทางปัสสาวะ การตรวจปัสสาวะใช้วิธีการทางชีวเคมี มีอยู่ หลายวิธี ทั้งการตรวจวิเคราะห์เชิงคุณภาพ และเชิง ปริมาณ ที่ใช้กันมาก ได้แก่ วิธีการตรวจสี (calorimetric method) และวิธีการแยกสารและย้อมสี (chromatography) และวิธีการแบบอิมมูโนแอสเซ (immunoassay) เป็นต้น |
การตรวจปัสสาวะหาสารเสพติดด้วยเครื่องเอมิต (emit) |
การตรวจปัสสาวะเป็นวิธีการที่ใช้ในการตรวจ หาสารที่ต้องการในปัสสาวะเท่านั้น ไม่ได้บ่งถึงบุคลิกภาพของผู้ใช้ ตลอดจน สภาพการติดยา นอกจากนี้การมี สารดังกล่าวในปัสสาวะ อาจเป็นผลจากการใช้ยานั้นใน การรักษาโรคก็ได้ ในประเทศไทย มียาตำรับผสมอยู่มาก ทั้งยาแก้ปวด แก้ไอ แก้ท้องเสีย และอื่นๆ ซึ่งมีฝิ่น หรืออนุพันธ์บางอย่างผสมอยู่ และอาจมีผลให้ตรวจพบ ในปัสสาวะได้ ในบางกรณีผู้ใช้ยาไม่ทราบด้วยซ้ำว่า ในยาที่ใช้นั้นมีฝิ่นเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย |