เล่มที่ 9
ยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด

มนุษย์เราได้คิดค้นวิธีการรักษาผู้ติดยาเสพติด มาเป็นเวลานานแล้ว กลวิธีที่ใช้ขึ้นอยู่กับแนวความคิดและทัศนคติ ต่อการติดยาเสพติด ในสภาพสังคม และเวลานั้นๆ

หากเห็นว่าการติดยาเสพติดเป็นอาชญากรรม เป็นความชั่วร้ายที่ผู้ติดยาก่อขึ้น วิธีแก้ที่ใช้ก็เป็นการลงโทษ ในรัชสมัย สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ต้น กรุงศรีอยุธยา ให้นำผู้ติดฝิ่นไปประจานด้วยการตระเวน บก ๓ วัน ตระเวนเรือ ๓ วัน แล้วจองจำไว้ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เฆี่ยนแล้วส่งตัว ไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้าง ในปัจจุบันนี้ การใช้ยาเสพติด ก็เป็นการผิดกฎหมายอาญา อาจต้องโทษจำคุกได้ ใน ประเทศสิงคโปร์ ตำรวจอาจจับผู้ใดไปตรวจปัสสาวะ หายาเสพติดได้ และถ้าพบว่า มีผลบวก แสดงว่าเคยได้รับ เฮโรอีนแล้วก็จะถูกคุมขับเป็นเวลา ๖ เดือนหรือกว่านั้น วิธีการดังกล่าวนี้ หวังจะให้ผู้คนกลัวไม่ไปใช้ยาเสพติด หรือหากติดแล้วก็ต้องเลิกเสีย มิฉะนั้นจะถูกลงโทษ หากการรักษากฎหมายกระทำได้เข้มงวดจริง ก็เอาได้ผล ดังเช่นในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งอ้างว่า ไม่มีผู้ติดยาเสพติด เพราะผู้ที่ติดยาและไม่ยอมเลิก จะได้รับโทษสถานหนักถึงถูกยิงเป้า

หากเห็นว่า การติดยาเสพติดเป็นโรคชนิดหนึ่ง ที่ผู้ติดยาเสพติดเป็นผู้ป่วยที่มีสภาพจิตผิดปกติ การแก้ปัญหาก็เป็นการให้การรักษา และหากเห็นว่า ผู้ติดยาเสพ ติด เป็นผู้โชคร้ายที่เป็นเหยื่อของปัญหาสังคม เขาก็ควร ได้รับการช่วยเหลือ

วิธีการในการรักษาผู้ติดยาเสพติด ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีใดที่เป็นที่ยอมรับ และมีหลักฐานว่า เป็นวิธีที่ได้ผลแน่นอน อาจแบ่งเทคโนโลยีในการรักษาออก เพื่อให้เห็นแนวกลวิธีได้ดังนี้

๑. การถอนพิษยา

เป็นการรักษาอาการของการที่ร่างกายขึ้นกับยา เพื่อจะได้หยุดยาได้

สำหรับผู้ที่ติดยานอนหลับ พวกบาร์บิทูเรต การถอนยาอาจมีอาการมากถึงกับเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ เช่น อาการไข้สูง ชัก และช็อก การรักษาจึงต้อง อาศัยแพทย์ที่มีความรู้และอุปกรณ์เพียงพอ แต่ผู้ที่ติดยา ประเภทฝิ่น มอร์ฟีน และเฮโรอีน อาการถอนยาไม่รุนแรง นัก มีผู้ได้พยายามรวบรวมรายงานเรื่องนี้ปรากฏว่า ไม่มีหลักฐานว่า เคยมีผู้ใดเสียชีวิต จากอาการถอนยา จากยาประเภทฝิ่น มอร์ฟีน หรือเฮโรอีน ยกเว้นผู้ที่มีสุขภาพไม่ดี และมีโรคร้ายแรงอยู่ในร่างกาย
การรักษาผู้ติดยาเสพติด ที่สำนักสงฆ์ วัดถ้ำกระบอก จังหวัดสระบุรี
การรักษาผู้ติดยาเสพติด ที่สำนักสงฆ์ วัดถ้ำกระบอก จังหวัดสระบุรี
การถอนพิษยา สำหรับผู้ติดเฮโรอีนจึงอาจใช้วิธี หยุดยาไปเฉยๆ และให้ทนทรมานไปจนกว่าจะพ้นระยะ อาการถอนยาในเวลา ๕-๗ วัน บางคนก็อ้างว่าวิธีการ ถอนยาแบบนี้ เป็นการลงโทษ และใช้เป็นการสั่งสอน ผู้ติดยาให้ไม่กล้าที่จะไปติดยาอีก

การรักษาที่ทำกันมาก ก็เป็นการใช้ยาพวกฝิ่น หรือยาสังเคราะห์ที่มีฤทธิ์แบบเดียวกัน เช่น เมทาโดน (methadone) เป็นยาแทน แล้วค่อยๆลดขนาดยาลงไป เรื่อยๆ เพื่อให้อาการถอนยาเกิดขึ้นน้อยและไม่รุนแรง จนในที่สุดก็หยุดยาได้ พร้อมกันนี้ อาจใช้ยาอย่างอื่น รักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด ยานอนหลับ ยากล่อม ประสาท ช่วงในระยะที่อาการมาก

การใช้ยารักษาตามอาการอย่างเดียว ก็อาจใช้ได้ สามารถบรรเทาอาการถอนยาลงไปได้ และได้ผลเช่น เดียวกัน การใช้ยาสมุนไพรหรือวิธีการอื่นๆ เช่น การ ฝังเข็ม ก็อาจเปลี่ยนหรือระงับอาการถอนยาไปได้

ในทางปฏิบัติ ผู้ที่ติดยาเสพติดมักจะมีสุขภาพ ไม่ดี ขาดอาหารและมีโรคต่างๆ ยิ่งผู้ที่ใช้ยาฉีดเข้าเส้น โดยไม่ได้รักษาความสะอาด ก็มีโรคจากการอักเสบ ติดเชื้อในอวัยวะต่างๆได้ การรักษาในระยะถอนยาจึง จำเป็นต้องให้การดูแลรักษาโรคที่อาจซ่อนอยู่ด้วย ชาว ไทยภูเขาที่ติดฝิ่น มีถึงร้อยละ ๓๐ ที่มีภาวะผิดปกติ ที่เห็นได้ในภาพเอกซเรย์ของปอดและไต เช่น เป็น วัณโรคของปอด ปอดอักเสบ และนิ่วในทางเดินปัสสาวะ การรักษาการถอนพิษยาจะไม่ได้ผล ถ้าโรคต่างๆ เหล่านี้ ไม่ได้รับการรักษาด้วย

โดยสรุป การถอนพิษยาสำหรับฝิ่น และเฮโรอีน มีเทคนิคในการปฏิบัติที่ทำได้ไม่ยาก จะใช้วิธีใดก็ได้

ผู้ที่เข้ารับการรักษาจำนวนไม่น้อย เป็นผู้เคยได้ รับการรักษาแล้ว และหยุดใช้ชั่วคราวแล้วกลับไปใช้อีก การรักษาจึงเป็นเพียงการช่วยในระยะการติดยาขาดเป็นช่วงๆ และขนาดของยาที่ใช้ลดลงเท่านั้น

ในระยะถอนพิษยา หรือก่อนกลับไปใช้อีก ผู้ติดยาไม่ต้องใช้เงินในการซื้อยา ก็ย่อมเกิดประโยชน์ ในการลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ และลดอาชญากรรม ลงได้ แม้ว่าเขาจะกลับไปติดใหม่ก็ตาม เมื่อติดใหม่ ก็ใช้ยาในขนาดน้อยกว่าเดิมด้วย

๒. การปรับปรุงแก้ไขจิตใจ และบุคลิกภาพ

ในโครงการรักษาผู้ติดยาบางโครงการ เป้าหมายหลักในการรักษาเป็นการปรับปรุงแก้ไขด้านจิตใจ เพื่อให้สามารถหยุดยาได้ตลอดไป หรือลดปัญหาลง  เทคนิค ในการแก้ไขด้านจิตใจมีอยู่มากมายหลายแบบตัวอย่าง เช่น

๒.๑ การรักษาทางจิต ด้วยวิธีการต่างๆทาง จิตเวชศาสตร์ เช่น จิตวิเคราะห์ จิตบำบัด เป็นต้น

๒.๒ การอบรมและให้คำปรึกษาด้วยจิตแพทย์ พระภิกษุ นักบวช นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลอื่น

๒.๓ การฝึกวินัย เช่น การให้มีชีวิตในที่คุมขัง หรือโรงเรียน หรือโรงพยาบาลที่จำกัดขอบเขต และมี ระเบียบวินัยที่เข้มงวด ตลอดจนการมีระบบลงโทษ และให้รางวัลเพื่อปรับปรุงอุปนิสัย

๒.๔ อาชีวะบำบัด ใช้การทำงานเป็นเครื่อง รักษาให้มีเครื่องยึดเหนี่ยว แล้วใช้การฝึกอบรมสั่งสอน และวิธีการต่างๆ เป็นเครื่องช่วยปรับปรุงจิตใจ

๒.๕ ชุมชนบำบัด เป็นวิธีการที่สร้างชุมชนจำลองขึ้น ให้ผู้ที่เคยติดยาเสพติดได้ปรับจิตใจของตนเอง ให้สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ ส่วนใหญ่จะมีผู้เคยติดยาที่ได้เลิกเด็ดขาดแล้ว เป็นผู้ดำเนินการ และช่วยเหลือ เทคนิคที่ใช้ในชุมชนบำบัดนี้ มีอยู่หลาย แบบ ทั้งด้านการสร้างความเห็นอกเห็นใจ การให้ความ ช่วยเหลือ การให้คำปรึกษา หรือการสร้างระเบียบวินัย การสร้างนิสัยการทำงาน การสร้างความรับผิดชอบ บางแห่งมีการใช้เทคนิคการเผชิญหน้า โดยให้ผู้ที่อยู่ในชุมชนได้โต้เถียงและวิพากษ์วิจารณ์กัน เพื่อให้เกิดการระลึกตนเองได้

การฝึกสมาธิ การบวชเรียน ก็อาจใช้เป็นวิธี ปรับปรุงจิตใจได้

การแก้ไขปรับปรุงจิตใจ สำหรับผู้ติดยาเสพติด นี้ เห็นได้ชัดว่ากระทำได้ลำบากและหวังผลได้ยาก จะต้องใช้เวลานาน และค่อยๆ เปลี่ยน และปรับไปทีละน้อย ต่างคนก็อาจมีปฏิกิริยาและผลแตกต่างกันออกไป
นักเรียนฝึกนั่งสมาธิ
นักเรียนฝึกนั่งสมาธิ
ในสหรัฐอเมริกา ได้มีสถานบำบัดรักษาแบบ ชุมชนบำบัดนี้หลายแห่ง เช่น ไซนานูน และเดย์ทอป (Synanoon, Daytop) ที่อังกฤษมีฟีนิกซ์เฮาส์ (Phoenix House) ในยุโรปก็มีอยู่หลายแห่ง เช่น เดย์ทอป เยอรมนี (Daytop Germany) เป็นต้น วิธีการที่ใช้มีหลักการคล้าย- คลึงกัน และแตกต่างกันบ้างในข้อปลีกย่อย มีเป้าหมาย มุ่งที่จะแก้บุคลิกภาพ และสภาพจิตเป็นสำคัญ ต้องใช้เวลาบำบัดรักษา ๑ - ๒ ปี

ในการประเมินผลการบำบัดรักษา มีผู้อ้างว่า วิธีการนี้ได้ผลดีที่สุด อัตราการเลิกใช้ยาเสพติดเกิน ๒ ปี มีสูงถึงร้อยละ ๘๐ ของผู้ที่รับการรักษาครบกำหนด ส่วนผู้ที่รักษาไม่ครบก็ยังมีอัตราการเลิกใช้ยาสูงพอ และอัตราการเกิดปัญหาทางอาชญากรรมลดลง เป็นที่พอใจ และดีกว่าการรักษาวิธีอื่นๆ อย่างไรก็ตาม บางแห่งอัตราการเลิกรักษากลางคันยังสูงอยู่มาก

๓. การสร้างเครื่องยึดเหนี่ยว

ผู้ที่ติดยาเสพติดมีบุคลิกภาพที่ไม่ดีอยู่เดิม และเปลี่ยนไปจากการติดยาเพิ่มเติมขึ้นอีก ตลอดจน สภาพการที่จิตใจขึ้นกับยา ยังคงอยู่เป็นเวลานาน การปรับปรุงการแก้ไขสภาพจิตใจอาจจะกระทำได้ไม่เต็มที่ การสร้างสิ่งยึดเหนี่ยว อาจช่วยให้ผลการบำบัดรักษาดีขึ้น ตัวอย่างของสิ่งยึดเหนี่ยว ได้แก่

๓.๑ การให้คำมั่นสัญญากับตนเอง หรือผู้ที่เป็นที่เคารพนับถือ รวมทั้งการให้สัตว์ปฏิญาณ

๓.๒ การบนบาน และความกลัวถึงโทษที่จะเกิดขึ้นจากการกลับสาบาน

๓.๓ การคุมประพฤติ ที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ทำ การตรวจเป็นระยะๆ เพื่อดูว่า กลับไปใช้ยาเสพติดอีกหรือไม่ รวมทั้งการตรวจปัสสาวะหายาเสพติด ตลอดไปถึงการถูกลงโทษ ถ้าตรวจพบ

การที่นักสังคมสังเคราะห์ไปพบดูแลที่บ้านเป็น ระยะๆ อาจเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวสำหรับบางคนไม่ให้ไปใช้ยาเสพติดอีก

๓.๔ การใช้ยาต้านฤทธิ์ยาเสพติด (narcotic antagonist) วิคเลอร์ (Wikler) ได้ศึกษาสรีรวิทยาของการ ติดยาเสพติด แล้วตั้งทฤษฎีว่า น่าจะใช้ยาต้านฤทธิ์ ยาเสพติดไปห้ามฤทธิ์ของยา ทำให้ผู้ติดยาที่ไปใช้ยาจะไม่ ได้ผลตามต้องการ เมื่อได้รับยาต้านฤทธิ์ยาเสพติดเข้า ไปในร่างกาย ยาจะไปจับกับจุดรับยาในสมอง ซึ่งเป็น จุดที่ยาเสพติดไปออกฤทธิ์ ดังนั้น ภายหลังที่ได้รับยาต้านฤทธิ์ไปเต็มที่แล้ว ต่อไปเมื่อได้รับยาเสพติดก็ไม่เกิด ผลอย่างใดเลย หากเป็นอยู่นาน ความพอใจที่ควรจะได้จากการใช้ยาจะขาดหายไป แรงผลักดันให้ไปใช้ยาเสพ- ติดก็จะค่อยๆ หายไปด้วย เรียกว่า การดับ (extinction) ของเงื่อนไข (conditioning) ต่อมาในพ.ศ. ๒๕๐๙ (ค.ศ. ๑๙๖๖) มาร์ติน (Martin) ก็นำไปใช้ในการรักษาจริงๆ การใช้ยาต้านฤทธิ์ในการรักษานี้ ยังอยู่ในระหว่างการ ศึกษาทดลอง ยังต้องรอผลการศึกษาวิจัยต่อไป

ในระยะแรกมีการใช้นาลอร์ฟีน แต่ฤทธิ์ต้าน ยาเสพติดยังอ่อนเกินไป ยานี้คงใช้ได้แต่ในการรักษาผู้ ใช้ยาเกินขนาดเท่านั้น ต่อมาได้มี นาลอกโซน ซึ่งมี ฤทธิ์ต้านยาเสพติดดี แต่ปรากฏว่าราคาแพง ต้องใช้ฉีด การกินทางปากได้ผลไม่ดี และฤทธิ์ของยาอยู่เพียง ๑๐ ชั่วโมง ในทางปฏิบัติจริงจึงใช้ลำบาก ในระยะหลังนี้ การศึกษาวิจัยยานัลแทรกโซน (naltrexone) ซึ่งกินทาง ปากได้และออกฤทธิ์อยู่ได้ถึง ๒๔ ชั่วโมง การใช้ยานี้ อยู่เป็นประจำ จะช่วยคนบางคนที่มีความตั้งใจพอ ที่จะกินยาต้านฤทธิ์ เพื่อช่วยให้ตนเองไม่ไปใช้เฮโรอีน หรือ ถึงไปใช้ก็ไม่ได้ผล จะเห็นได้ว่า กระบวนการของยาต้านยาเสพติดนี้ ต่างจากแอนตาบุส หรือไดซัลฟาแรม (antabuse or disulfaram) ซึ่งมีผลเกิดอาการรุนแรงถ้าผู้ใช้ไปดื่มเหล้า

ปัญหาที่มีในการใช้วิธีการนี้ ก็คือ ผู้ติดยาอาจ หยุดยานี้ไปชั่วคราว เพื่อกลับไปใช้เฮโรอีนเป็นระยะๆ ได้

๔. การแก้ไขสภาพแวดล้อม

การให้การฝึกอาชีพ การจัดหางาน การสังคมสงเคราะห์ อาจช่วยผู้ติดยาบางคนที่ไม่มีงานทำได้ มีความรู้ความสามารถ ในการทำมาหากิน มีรายได้ เมื่อกลับเข้าไปสู่สังคมอีกครั้งหนึ่ง

การให้คำปรึกษาหารือแก่พ่อแม่ ผู้ปกครองของ ผู้ที่ติดยาเสพติดให้เข้าใจปัญหา และได้ช่วยกันแก้ไข เพื่อให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น โอกาสที่จะกลับไปใช้อีกจะได้น้อยลง

การจัดให้มีบริการสาธารณสุขเบื้องต้นในหมู่บ้านชาวไทยภูเขา ซึ่งใช้ฝิ่นเป็นยารักษาโรคก็เป็นการแก้ไขสภาพแวดล้อม เพื่อให้โอกาสที่จะต้องกลับไปใช้และติดฝิ่นอีกนั้น น้อยลง

การแก้ไขปัญหาสังคมส่วนรวม เช่น ปัญหาแหล่งมั่วสุม แหล่งอบายมุข ชุมชนแออัด ความยากจน การว่างงาน ตลอดจน ปัญหาเด็กวัยรุ่น และทัศนคติของสังคมต่อยาเสพติดและผู้ติดยาเสพติด จะมี ส่วนช่วยในการป้องกัน ไม่ให้ผู้ที่หยุดยาเสพติดแล้ว กลับไปใช้ใหม่อีก

จะเห็นได้ว่า การแก้ไขสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งที่กระทำได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก แต่การรักษาที่ดีจะต้องมีเป้าหมายให้ผู้ติดยาเสพติด ได้กลับเข้าไปอยู่ในสังคม และสภาพแวดล้อม จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง

๕. การรักษาเพื่อลดปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจของการติดยาเสพติด

เทคนิคการรักษาแบบต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วมีเป้าหมายที่จะให้ผู้ติดยาเสพติดได้เลิกเสพ และกลับเข้าไปสู่สังคม เป็นพลเมืองดี ของประเทศชาติต่อไป แต่สำหรับผู้ติดยาเสพติดจำนวนไม่น้อย ความหวังที่จะให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวนี้ เป็นไปได้ยากยิ่ง หรือเป็นไปไม่ได้เลย การรักษาจึงจำเป็นต้องลดเป้าหมายลงมา ไม่ต้องให้ถึงกับหยุดยาเสพติดโดยเด็ดขาด แต่ให้สามารถควบคุมได้ และสภาพการติดยาไม่ก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือปัญหาอาชญากรรม อันเป็นอันตรายต่อสังคมต่อไป การรักษาด้วยเป้าหมายเพียงลดปัญหา จึงเป็นเทคนิคที่จำเป็นต้องนำมาใช้ด้วย

๕.๑ การใช้เฮโรอีนจ่ายให้แทนตลาดมืด เป็น วิธีการที่ใช้ในประเทศอังกฤษ ผู้ที่ติดเฮโรอีนต้องขึ้นทะเบียน แล้วแพทย์มีสิทธิจ่ายเฮโรอีนให้ได้ ผู้ติดยาเลยไม่ต้องเสียเงินซื้อเฮโรอีนจากตลาดมืด ซึ่งมีราคา แพงมาก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ (ค.ศ. ๑๙๕๘) มีผู้ขึ้น ทะเบียนอยู่ ๖๒ ราย แต่ใน พ.ศ. ๒๕๑๑ (ค.ศ. ๑๙๖๘) มีเพิ่มขึ้นเป็น ๒,๒๔๐ ราย ได้มีการแก้กฎหมาย และระเบียบ ให้แพทย์และเภสัชกรเพียงบางแห่งที่จัดขึ้น เฉพาะเท่านั้นที่มีสิทธิจ่ายเฮโรอีน เพราะมีปัญหาในการ ควบคุมดูแล

๕.๒ การใช้เมทาโดนแทนเฮโรอีนระยะยาว วิธีการนี้ดอลและนิสวันเดอร์ (Dole and Nyswander) ได้ เริ่มใช้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๘ (ค.ศ. ๑๙๖๕) โดยมีหลักการว่าใช้เมทาโดนให้ทางปากแทนเฮโรอีน และพยายามเพิ่มขนาดขึ้น จนถึงระดับที่ไม่มีอาการถอนยา แม้ผู้ติดยาจะไม่ได้รับเฮโรอีน การได้รับยาขนาดนี้เป็นประจำทุกวัน โดยใช้ยาวันละครั้ง เพราะยามีฤทธิ์อยู่นานพอ จะมีผลให้ความอยากยาบรรเทาลงไป และแม้ว่าผู้นั้นจะไปฉีดเฮโรอีนเข้าหลอดเลือด ก็จะไม่ได้รับผลตามฤทธิ์ของเฮโรอีน เพราะเมทาโดนไปทำให้เกิดการต้านยาอย่างเต็มที่แล้ว

โดยปกติ ผู้ติดยาจะมีอาการเมาเมื่อได้รับยา สลับกับอาการไม่สบายจากการขาดยา โดยอาจมีช่วงเวลา ที่มีสภาพจิตและร่างกาย เป็นปกติอยู่บ้าง มากน้อยแล้วแต่บุคคล เมื่อได้รับการรักษาด้วยเมทาโดนระยะยาวดังกล่าวนี้ ก็จะมีสภาพจิตและร่างกายเป็นปกติอยู่ตลอดเวลา ทำให้สามารถประกอบการงานหรือเล่าเรียนได้ หรือสามารถรับการฟื้นฟูสภาพจิตได้ เป้าหมายของการรักษา จึงเป็นการลดปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจลง และให้มีชีวิตอยู่ในสังคมทั่วไปได้ โดยยังใช้ยานี้อยู่

วิธีการดังกล่าวนี้ ปรากฏว่าผลดีในบางราย มีบาง รายที่ยังไปใช้เฮโรอีนอยู่เป็นระยะๆ มีสถานพยาบาล ที่ใช้วิธีการนี้ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในสหรัฐอเมริกา จนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ (ค.ศ. ๑๙๗๐) มีผู้ได้รับการรักษา แบบนี้อยู่ถึง ๙,๐๐๐ คน และต่อมา ก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนใน พ.ศ. ๒๕๒๐ (ค.ศ. ๑๙๗๗) มีถึง ๘๕,๐๐๐ คน เพราะปรากฏว่า เป็นวิธีการที่ได้ผลตามเป้าหมาย มากกว่าวิธีการอื่นที่มีอยู่

ข้อเสียของวิธีการนี้มีมากขึ้นเมื่อมีการใช้มากขึ้น บางคนต้องใช้ยาขนาดมากจึงได้ผลตามต้องการ และทำให้ง่วง ในระยะหลังได้รับยาใหม่ๆ นอกจากนี้ผู้ที่ได้รับการรักษาจะต้องเดินทางไปรับยาด้วยตนเองทุกวัน อันเป็น ความลำบาก และรบกวนต่อภารกิจประจำวัน ซึ่งน่าจะเป็นเป้าหมายสำคัญของวิธีการนี้

ใน พ.ศ. ๒๕๑๕ (ค.ศ. ๑๙๗๒) ได้มีระเบียบ อนุญาตให้จ่ายยาให้กลับไปใช้เองที่บ้านได้ โดยไปรับยา สัปดาห์ละ ๓ ครั้ง สำหรับผู้ที่ปฏิบัติตนดี ตั้งแต่นั้นมา ก็มีปัญหาเกิดขึ้นเป็นอันมาก เพราะมีการใช้ยาเมทาโดน เกินขนาด และบางคนก็เสียชีวิต เมทาโดนทีจ่ายออกไป ก็เข้าสู่ตลาดมืด และมีการระบาดของการติดเมทาโดน เป็นโรคใหม่ขึ้นมา ในการสำรวจเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗-๑๘ (ค.ศ. ๑๙๗๔-๗๕) พบว่าร้อยละ ๔๖ ของผู้ติดยาที่ได้ สัมภาษณ์ ใช้เมทาโดนจากตลาดมืดในระยะสัปดาห์ก่อน สัมภาษณ์ และร้อยละ ๗๐ เคยใช้ในระยะ ๓ เดือนก่อน ปัญหาเมทาโดนซึ่งรั่วไหลออกไปจากสถานบำบัดรักษาต่างๆ จึงเป็นข้อเสียประการสำคัญ

ได้มีการคิดค้นตัวยาที่ออกฤทธิ์อยู่นานกว่าเมธา- โดน เพื่อให้สามารถยืดระยะเวลาที่ผู้ป่วยต้องไปรับยา ให้ห่างออก ตัวอย่างเช่น แลม (LAAM) ซี่งมีฤทธิ์อยู่ นานและใช้วันเว้นวัน หรือสัปดาห์ละ ๓ วัน ในขณะ นี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยกันอยู่

เทคโนโลยีการบำบัดรักษาแบบต่างๆ ที่กล่าว มานี้ อาจใช้ประกอบกันหลายๆ อย่าง และจะต้องเลือกให้เหมาะสม กับผู้ติดยาแต่ละคนด้วย