ประวัติจิตเวชศาสตร์และสุขภาพจิต
มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่า ในประเทศอียิปต์ สมัย ๑,๕๐๐ ปีก่อนคริสต์กาล คนในยุคนั้นเชื่อถืออำนาจเหนือธรรมชาติ เช่น เชื่อว่า โรคทั้งหลายรวมทั้งโรคจิตเกิดจากวิญญาณของภูติผีปีศาจเข้ามาสิงสู่ หรือโรคจิตเกิดจากการกระทำในสิ่งที่ต้องห้าม (taboo) จากการไม่ปฏิบัติตามกฎศาสนา ฯลฯ การรักษาโรคจิตจึงมักอาศัยพระหรือการเข้าทรงหมอผี
ฮิปโปคราเตส ผู้ได้รับสมญา
บิดาแห่งการแพทย์
ฮิปโปคราเตส (Hippocrates, ๔๖๐-๓๗๗ ปี ก่อนคริสต์ศักราช ชาวกรีก ผู้ริเริ่มการแพทย์) ผู้ได้รับสมญาว่า เป็น "บิดาแห่งการแพทย์" เป็นคนแรกที่นำความรู้เกี่ยวกับโรคจิต เข้ามาสู่วงการแพทย์ ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ ๔ ก่อนคริสต์กาล เขากล่าวว่า "สมองเป็นที่ตั้งของจิตใจ" เขาไม่เชื่อว่า โรคจิตเกิดจากพระเจ้า หรือปีศาจ
ต่อมาในยุคกลาง (Middle Ages) ซึ่งเป็นยุคของศาสนา และภูติผีปีศาจ นักบวชมีอำนาจทั้งทางศาสนา และมายากล คนทั้งหลายกลับไปมีความเชื่ออย่างเดิมว่า โรคจิตเกิดจากผีสิง หรือแม่มด โดยเฉพาะชาวตะวันออกส่วนมากเชื่อเวทมนตร์คาถา ลางสังหรณ์ การบูชาพระเจ้า ผี ต้นไม้ ไฟ เป็นต้น ในคริสต์ศตวรรษที่ ๘ เริ่มมีสถานดูแลผู้ป่วยโรคจิต (asylum) ในกรุงแบกแดด ต่อมามีการสร้างโรงพยาบาลโรคจิตในที่อื่นๆ อีก โดยเฉพาะในเมืองอะเดรียนาโบลิส (Adrianabolis) สุลต่านที่ ๒ ได้สร้างโรงพยาบาลโรคจิตขึ้นใน พ.ศ. ๒๐๔๓ (ค.ศ. ๑๕๐๐) มี บรรยากาศสงบ มีน้ำพุ และสวนดอกไม้ การรักษาใช้ ยา เครื่องหอม อาหารพิเศษ และการแสดงดนตรี
ซิกมันด์ ฟรอยด์
ผู้วางรากฐานทฤษฎีจิตวิเคราะห์
ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เป็นยุคเริ่มต้นของการตื่นตัวเรื่องจิตไร้สำนึก (unconscious) จ็อง มาร์แตง ชาร์โกต์ (Jean Martin Charcot, ค.ศ. ๑๘๒๕-๑๘๙๓) ประสาทแพทย์ชาวฝรั่งเศส ศึกษาสาเหตุของโรคฮิสทีเรียอย่างลึกซึ้ง ลูกศิษย์ของเขาคนหนึ่ง คือ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud, ค.ศ. ๑๘๕๖-๑๙๓๙) ได้เป็นผู้วางรากฐานทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (psychoanalysis) แรกเริ่ม เขาเป็นประสาทแพทย์ชาวออสเตรีย แต่ภายหลังหันมาสนใจเรื่องจิตใจ และใช้วิธีสะกดจิตรักษาผู้ป่วยฮิสทีเรีย เขาพบว่า ผู้ป่วยส่วนมากจะกดเก็บความต้องการอันไม่เป็นที่ยอมรับ (unacceptable wishes) ไว้ในจิตไร้สำนึก เขาค้นพบทฤษฎีของจิตกลไก หรือกลวิธาน (mental or defense mechanisms) ซึ่งเป็นรากฐานส่วนหนึ่งของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ต่อมาเขาเลิกใช้วิธี สะกดจิต และใช้วิธีปล่อยให้ผู้ป่วยพูดสิ่งที่ผู้ป่วยคิดออกมาได้เองตามใจชอบ ทำให้เขานึกถึงเรื่องอื่นๆ ได้ติดต่อกันไปอย่างเสรี (free association) เขาได้ศึกษาค้นคว้าเทคนิคในการทำจิตบำบัด (Psychotherapy) ในทฤษฎี ลิบิโด (libido) ซึ่งเป็นแก่นของจิตวิเคราะห์
ในยุคครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก แนวคิดทาง จิตเวชศาสตร์ได้เบนไปจากเรื่องศาสนาและปรัชญา และเปลี่ยนไปทางอุดมคตินิยมและวัตถุนิยมมากขึ้น นักจิตเวชศาสตร์เริ่มเชื่อว่า อาการทางจิตเวชสืบเนื่อง มาจากสาเหตุทางสรีรวิทยา จนบางคนถึงกับเชื่อว่าโรค จิตคือโรคของสมอง แนวโน้มในการรักษาผู้ป่วยโรคจิตในยุคนี้คือ รีบแยกผู้ป่วยออกจากครอบครัว แล้วรีบนำไปไว้ในโรงพยาบาล
ในปัจจุบัน ผู้ป่วยโรคจิตส่วนมากได้รับการรักษาด้วยการใช้ยา ซึ่งมีมากมายหลายชนิด และส่วนมากมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการทางจิต นอกจากนี้ ยังมีวิธีการรักษาที่ทันสมัย ทำให้ผู้ป่วยหลายรายไม่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล สามารถอยู่ในชุมชนของเขาได้