เล่มที่ 10
จิตเวชศาสตร์และสุขภาพจิต
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

สุขภาพจิต

จากสารานุกรมอเมริกันฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๒ (ค.ศ. ๑๙๗๙) ได้ให้คำจำกัดความไว้ดังนี้

            สุขภาพจิต คือ พัฒนาการแห่งเจตคติอันดีของบุคคลที่มีต่อตัวเอง และสิ่งแวดล้อม เพื่อจะได้บรรลุความสำเร็จ แห่งการดำรงชีวิตด้วยตัวเองได้มากที่สุด


การฟังและปฏิบัติตามคำสั่งสอนทางศาสนา เป็นทางที่ดีที่สุดทางหนึ่ง ที่จะช่วยแก้ปัญหาทางใจให้แก่คนเราได้

            งานสุขภาพจิตเริ่มใน พ.ศ. ๒๔๔๓ โดยชาวอเมริกันชื่อ คลิฟฟอร์ด เบียร์ส (Clifford W.Beers) ซึ่งป่วยด้วยโรคจิตทางอารมณ์ จนพยายามจะกระโดดหน้าต่างตาย หลังจากได้รับการรักษาในโรงพยาบาลต่างๆ แล้ว ได้เขียนหนังสือชื่อ "A Mind That Found Itself" ตีพิมพ์ใน พ.ศ. ๒๔๕๑ เป็นที่รู้จัก ในวงการสุขภาพจิตทั่วโลก ต่อมา คลิฟฟอร์ด เบียร์ส ได้ตั้งสมาคมทางสุขภาพจิตขึ้นในสหรัฐอเมริกา

            ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๒ สหรัฐอเมริกาได้แต่งตั้ง คณะกรรมการแห่งชาติเพื่อสุขภาพจิตขึ้น เพื่อขยายงานให้สัมพันธ์กับโรงเรียน ศาล องค์การทางศาสนา ให้การศึกษาชุมชน และฝึกอบรมบุคลากรทาง สุขภาพจิต ปัจจุบันวงการสุขภาพจิตได้ขยายไปทั่วโลก สหพันธ์สุขภาพจิตโลก (World Federation for Mental Health) ก่อตั้งใน พ.ศ. ๒๔๙๑

            งานสุขภาพจิตในประเทศไทยเริ่มใน พ.ศ. ๒๔๙๔ (ค.ศ. ๑๙๕๑) ในสมัยศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา

            หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นักการศึกษาในประเทศทางซีกโลกตะวันตกมุ่งสนใจพัฒนาการของเด็ก มีความเห็นสอดคล้องกันว่า "ความมุ่งหมายอันสูงสุดของการศึกษาก็คือ ช่วยให้เยาวชนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่บรรลุวุฒิภาวะทางอารมณ์ และสามารถใช้สติปัญญาของเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

ลักษณะของบุคคลที่มีสุขภาพจิตดี

            ๑. สามารถปรับตัวให้อยู่ในสังคม และวัฒนธรรมได้ด้วยความสุขสบายตามสมควร ตลอดจนสามารถปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความสามารถเต็มที่ ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา และอารมณ์ โดยไม่มีความผิดปกติทางจิตใจ

            ๒. อดทนต่อความลำบาก ความคับข้องใจ และความตึงเครียดได้ เมื่อพบปัญหาที่จะได้รับผลกระทบกระเทือน เป็นทุกข์ หรือโศกเศร้าตามสภาพเป็นจริงแห่งชีวิต

            ๓. ละทิ้งพฤติกรรม หรือเจตคติที่ไม่เหมาะสม เมื่อเติบโตขึ้น

            ๔. รู้จักตอบสนองความต้องการที่จำเป็นต่อชีวิตตนเอง ในขณะเดียวกัน ก็มีความห่วงใยผู้อื่นตามสมควร

            ๕. ไม่มองโลกในแง่ร้าย หรือแง่ดีเกินความเป็นจริง จนทำให้ขาดความระวังภัย

            ๖. สามารถผลัดรอ ชะลอความสบาย ความพอใจชั่วครู่ยาม เพื่อให้ได้มาซึ่งความพอใจ และความสุขสบายที่เหนือกว่า ในเวลาข้างหน้า

            ๗. สามารถพึ่งตนเองได้ แต่ควรยอมรับว่า บางโอกาสต้องพึ่ง และยอมรับความช่วยเหลือจากผู้อื่น เช่น ยามเจ็บป่วย เพื่อจะได้ไม่ต้องรับทุกข์ทรมานเกินขอบเขต

            ๘. ทำงานอย่างมีระบบ และระเบียบพอสมควร แต่ไม่ระเบียบจัดจนทำให้ตัวเอง และผู้อื่นลำบาก

๙. มีความใฝ่ใคร่รู้ แสวงหา สำรวจทดลอง แต่ก็ไม่มากจนตนเองได้รับอันตราย หรือทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน

๑๐. สามารถร่วมงานกับผู้อื่นได้ รู้จักประนีประนอม ยอมรับการแข่งขันเมื่อจำเป็น รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา

๑๑. กล้าปกป้องสิทธิของตน แต่ก็เคารพสิทธิของผู้อื่น ไม่ดื้อรั้น หรือมีทิฐิ กล้าแสดงความเห็นแย้ง โดยไม่ก้าวร้าว ลบหลู่ผู้อื่น

๑๒. พอใจในเพศของตน มีความพอใจในการปฏิบัติทางเพศอันเหมาะสมแก่ตนและคู่ของตน

๑๓. มีความรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่ สามารถตัดสินใจโดยที่รู้ผลที่จะเกิดตามมาได้ถูกต้อง หรือรู้ว่า ควรศึกษาทดลองก่อนตัดสินใจ เพื่อความไม่บกพร่อง และไม่กระทำผิดซ้ำอีก

๑๔. ไม่แสวงหาความสนุกสบาย หรือพอใจ ในทางที่จะทำลายตนเอง เช่น เสพยาเสพติด

๑๕. สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ เมื่อเกิดปัญหาใดๆ และเมื่อสุดวิสัยที่จะแก้ได้ก็พยายามปรับตัว หรือหาทางหลีกเลี่ยงความตึงเครียดด้วยวิธีการที่เหมาะสม

๑๖. มีความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี ทั้งในด้านการงาน การเล่นกีฬา และอื่นๆ มีความผูกพันลึกซึ้งระหว่างเพื่อนสนิท และเพศตรงข้ามฉัน คู่รัก และคู่สมรสได้เป็นอย่างดี

การส่งเสริมสุขภาพจิต

การส่งเสริมสุขภาพจิต เป็นส่วนสำคัญในการ ป้องกันความผิดปกติทางอารมณ์ ทางจิตใจ และบุคลิกภาพ ซึ่งจะต้องประสานความร่วมมือจากหลายฝ่าย คือ จากพ่อแม่และบุคคลในครอบครัว วงการศึกษาฝ่ายบ้านเมือง เช่น ศาล ตำรวจ และผู้นำชุมชน เช่น ครู และผู้นำทางศาสนา ร่วมกับจิตแพทย์ ปัจจุบันในประเทศไทย มีจิตแพทย์ปฏิบัติงานเพียงร้อยกว่าคนเท่านั้น ซึ่งเป็นการไม่เพียงพอทั่วถึง องค์การอนามัยโลกจึงสนับสนุนให้ประเทศที่กำลังพัฒนา ฝึกอบรมบุคลากร และใช้ขุมพลังในท้องถิ่น เพื่อช่วยงานสุขภาพจิต โดยใช้กลวิธีสาธารณสุขมูลฐาน

ข้อแนะนำเพื่อป้องกันความผิดปกติทางจิตเวช

๑. มารดาที่กำลังตั้งครรภ์ ไม่ควรสูบบุหรี่ เสพสุรา และยาเสพติด เพื่อป้องกันมิให้เด็กที่เกิดมาเกิดความผิดปกติทางจิตเวช เช่น ปัญญาอ่อน

๒. ความผิดปกติบางอย่างป้องกันล่วงหน้าไม่ได้ แต่สามารถรักษาให้ทุเลาได้ สำหรับโรคจิตเภทควรรับยาระยะยาว ส่วนโรคจิตทางอารมณ์สามารถควบคุมได้โดยลิเทียม

๓. ออกกำลังกายสม่ำเสมอเป็นประจำ กินอาหารมีคุณค่าต่อร่างกาย พักผ่อนเพียงพอ จะทำให้ร่างกายแข็งแรง จิตใจก็สบาย ดังนั้นการส่งเสริมสุขภาพกาย จึงเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมสุขภาพจิต

๔. มีอาชีพที่พอใจ และอยู่ในขอบเขตความสามารถที่เป็นจริงของตน

๕. เป้าหมายชีวิตภายในขอบเขตที่เป็นจริงได้

๖. แก้ไขส่วนบกพร่องของตนเองที่แก้ไขได้ และยอมรับสภาพส่วนที่แก้ไขไม่ได้

๗. รู้จักใช้เวลาว่าง และมีงานอดิเรกทำ

๘. รู้จักทำประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยที่ตนเองไม่ต้องลำบาก หรือทุกข์ทรมานเกินขอบเขต

สุขภาพจิตเป็นภาวะที่ผู้อื่นหยิบยื่นให้โดยตรงไม่ได้ แต่ละคนต้องใฝ่ใจช่วยตนเอง และช่วยผู้อื่นเท่าที่จะสามารถทำได้