ยนี้เป็นระยะเริ่มต้นของการเจริญด้านคุณธรรม (superego) ความรับผิดชอบ และการทำความดี เด็กจะเริ่มเลียนแบบผู้ใหญ่ ที่ใกล้ชิด คือ บิดามารดา ถ้าเด็กถูกบังคับกดดัน หรือมีข้อห้ามมากเกินไป เขาอาจเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ขี้กังวล ขาดความมั่นใจ และขาดความภาคภูมิใจในตนเอง แต่ถ้าถูกตามใจมาก เกิดไปโดยไม่มีขอบเขต เด็กจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ รู้จักบังคับตนเอง ซึ่งอาจมีผลเสียในการติดต่อกับบุคคลอื่น
วัยอนุบาล (อายุ ๓-๕ ปี) ฟรอยด์เรียกวัยนี้ว่า "ระยะเอดิพัล" (oedipal period หรือ phallic phase) เด็กเริ่มสนใจความแตกต่างของอวัยวะเพศ มีความรักใคร่พ่อหรือแม่ที่เป็นเพศตรงข้ามกับตน และทำตนเป็นคู่แข่ง หรือเป็นศัตรูกับพ่อแม่ที่เป็นเพศเดียวกับตน โดยเด็กไม่รู้ตัวในจิตสำนึก ตัวอย่างเช่น เด็กชายจะใกล้ชิดหวงแหนแม่ และปรารถนาอยากกำจัดพ่อไปเสีย ความรู้สึกเช่นนี้ ทำให้เกิดความขัดแย้งภายใน (conflict) เพราะว่า เขาทั้งรักและกลัวพ่อ เพื่อขจัดความขัดแย้งนี้ เขาจึงใช้จิตกลไก หรือกลวิธาน ซึ่งเป็นกระบวนการในจิตไร้สำนึกชนิดเลียนแบบ เด็กชายจึงเลียนแบบพ่อ ซึ่งเป็นเพศเดียวกับเขา อันเป็นรากฐานของการพัฒนาบุคลิกภาพไปสู่ความเป็นชาย เด็กหญิงก็จะพัฒนาบุคลิกภาพไปสู่ความเป็นหญิงได้ด้วยกลวิธีเดียวกัน โดยเลียนแบบมารดา
อีริคสันเรียกวัยนี้ว่า "ระยะริเริ่ม" (stage of initiative) เขาจะว่องไว ซุกซน ช่างซัก ช่างถาม ช่างจำ กระตือรือร้นกระหายใคร่รู้ อาจก้าวร้าวทะเลาะแย่งของ ตีกัน แต่ประเดี๋ยวเดียวเขาก็จะดีกันได้ เขาจะพูดได้มากขึ้น และอาจคิดเรื่องราวพิสดาร เล่าให้ผู้ใหญ่ฟัง ราวกับเป็นเรื่องจริงจัง ทั้งนี้เพราะเขาใช้จิตกลไก ชนิดเพ้อฝัน (fantasy) โดยไม่มีเจตนาพูดเท็จ ผู้ใหญ่ที่ไม่เข้าใจอาจโกรธ ดุ หรือลงโทษ ซึ่งจะทำให้พัฒนาการของเขาชะงักงัน เขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่กล้าริเริ่ม
ถ้าเด็กเล่าเป็นตุเป็นตะว่า เมื่อวานเขาได้ขึ้นเรือบินไปเที่ยวไกล ผู้ใหญ่อาจพูดอย่างเข้าใจเขาว่า "หนูคงอยากขึ้นเรือบิน เพื่อไปเที่ยวไกลๆ กระมัง แต่ความจริงหนูคิดเอาเอง หนูยังไม่ได้ขึ้นเรือบินจริงๆ ใช่ไหม"
เด็กที่เริ่มเข้าโรงเรียนอนุบาลอาจมีปฏิกิริยากังวลต่อการจากพ่อแม่ เขาอาจร้องไห้ ท่าทางไม่เป็นสุข เงื่องหงอยชั่วคราว แต่เมื่อเขาได้เรียนรู้ว่า ครูเป็นคนช่วยเหลือและปลอบโยนเขา ไม่ทำอันตรายเขา ขณะเดียวกัน แม่ก็มิได้ทอดทิ้งเขา เขาจะเริ่มปรับตัวได้ เขาสนใจของเล่นก่อน ต่อมาจึงจะสนใจเพื่อนเด็กๆ ของเขา เด็กวัยนี้ชอบเล่นเป็นตัวสัตว์ เช่น เป็นช้าง หรือเล่นเป็นตัวพ่อ แม่ ตำรวจ ฯลฯ ซึ่งมีประโยชน์มาก เพราะการเล่นนี้ทำให้เขาได้เรียนรู้ และได้ระบายความขัดแย้งภายในของเขาออกไปด้วย
เด็กอาจถามปัญหาทางเพศ พ่อแม่ควรตอบตามความเป็นจริงที่เหมาะสมแก่วัยของเขา เช่น ถ้าเด็กถามแม่ว่า เขาออกมาจากไหน จากสะดือใช่หรือไม่ แม่ก็ควรตอบง่ายและเรียบว่า ไม่ใช่ มีช่องทางพิเศษ สำหรับให้เขาออกมา
เด็กบางคนอาจเล่นอวัยวะเพศ โดยเขาได้รับความพอใจจากการสัมผัส แต่เขามิได้เกิดความรู้สึกทางเพศอย่างผู้ใหญ่เลย เขามักทำ เพราะขาดความอบอุ่น ถูกปล่อยปละละเลย เขาจึงต้องหาวิธีการช่วยตัวเองให้มีความเพลิดเพลิน การดุหรือลงโทษ จะยิ่งทำให้เขามีปัญหามากขึ้น ควรศึกษาว่า สิ่งแวดล้อมของเขาเป็น อย่างไร เอาใจใส่เขามากขึ้น ไม่ปล่อยทิ้งเขาไว้คนเดียว ไม่ให้เขาอยู่ว่าง ชักชวนให้เขามีกิจกรรมอื่นที่น่าสนใจกว่า ทดแทนการเล่นอวัยวะเพศ ถ้าสงสัย ควรนำเด็กไปตรวจ และปรึกษาแพทย์ เด็กบางคนมีอาการคันบริเวณทวาร จึงทำให้เขาไปจับต้องบริเวณอวัยวะเพศก็ได้
วัยเรียน
วัยเรียน (อายุ ๖-๑๒ ปี) ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ เรียกว่า "ระยะลาเทนซี" (latency period) เด็กจะมุ่งไปทางการเรียน และออกกำลังกาย เริ่มพึ่งพาบิดามารดาน้อยลง มักสนใจเข้าพวกเข้าหมู่ ชอบคบเพื่อนเพศเดียวกัน การเข้าหมู่คณะ ทำให้เขาได้เรียนรู้กฎเกณฑ์ของสังคม สิทธิของบุคคล ความยุติธรรม และความรู้สึกรับผิดชอบ การเล่นกลางแจ้งมีความสำคัญ เพราะจะช่วยทั้งสุขภาพทางกาย ทักษะ และให้เขาได้มีทางออกของอารมณ์ เป็นการผ่อนคลายความตึงเครียด นอกจากนี้ เขาจะได้ฝึกความอดทน การรักหมู่คณะ การรู้จักแพ้ชนะ และเขาเริ่มมีเพื่อนสนิทเพศเดียวกัน
ปัจจุบัน เด็กได้รับอิทธิพลจากโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ ซึ่งมีทั้งผลดีและผลเสียต่อเด็ก ผู้ใหญ่ควรตัดสินว่า สิ่งใดควรไม่ควร และกำหนดขอบเขตให้เขา งานวิจัยหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาแสดงผลว่า สื่อมวลชนมีอิทธิพลต่อเด็ก ทั้งในทางดีและไม่ดี โดยเฉพาะในทางก้าวร้าว มักให้ผลลบมากกว่า
อีริคสันเรียกวัยนี้ว่า "ระยะอุตสาหะ หรือระยะทำให้สำเร็จ" (Stage of Industry) ถ้าเด็กทำอะไรสำเร็จ ในระยะนี้ เขาควรได้รับการสนับสนุนให้กำลังใจ ซึ่งจะมีผลต่ออนาคตของเขาอย่างมาก ผู้ที่ผ่านระยะนี้ไปได้ด้วยดี จะไม่มีความรู้สึกว่า ตนมีปมด้อย หรือบกพร่อง
เมื่อเด็กทำสำเร็จ เขาควรได้รับคำชมเชย แต่ ผู้ใหญ่ส่วนมากเข้าใจผิด กลัวเด็กเหลิง แท้จริงการ ชมเชยเมื่อเขาทำดี กลับเป็นการให้กำลังใจ และทำให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีวิริยะอุตสาหะ การชมเชยที่ถูกต้องคือ การชมเชย "การกระทำ" มิใช่ชม "ตัวเด็ก" ตัวอย่างเช่น เมื่อเขาช่วยถูเรือน ควรบอกเขาว่า "เขาทำให้พื้นสะอาดน่านั่งเล่นนอนเล่น" หรือเมื่อเขาแต่งโคลง แทนที่จะชมว่า เขาเก่งเหลือเกินควรบอก เขาในทำนองว่า โคลงบทนี้ไพเราะมาก
วัยรุ่น
วัยรุ่น (๑๓-๑๗ ปี) เป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างมากมาย ทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ เป็นวัยของความยุ่งยากใจ เพราะเขาไม่แน่ใจว่า เขาเป็น เด็กหรือเป็นผู้ใหญ่ ใจหนึ่งนั้นเขาอยากเป็นผู้ใหญ่ เขาดิ้นรนหาเสรีภาพ และอยากพึ่งตนเอง มีความคิดเป็นของตนเอง แต่อีกใจหนึ่งนั้นเขาก็ยังรู้สึกต้องการที่พึ่งพิง และได้รับความช่วยเหลือจากบิดามารดา
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเห็นชัดเจน คือ เขาจะสูงเร็วขึ้น มีกล้ามเนื้อเจริญมาก ทั้งนี้เนื่องจากมีการเจริญ ในบริเวณไฮโพทาลามัส (hypothalamus) กระตุ้นให้ต่อมใต้สมอง (pituitary) ส่วนหน้าทำงาน ผลิตฮอร์โมนหลายชนิด เพื่อการเจริญเติบโต อวัยวะเพศของเขาจึงเจริญ ทำหน้าที่ได้มากขึ้น เช่น เด็กชายเริ่มมีเสียงแตกห้าว มีขนรักแร้ อวัยวะเพศมีขนาดใหญ่ขึ้น เด็กหญิงจะเริ่มมีหน้าอก สะโพกขยาย และเริ่มมีระดู การเปลี่ยนแปลงนี้อาจทำให้เขากังวล โดยเฉพาะในกรณีที่เขาเติบโตมากกว่าและเร็วกว่าเพื่อนๆ ของเขา การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และผลจากฮอร์โมน ทำให้เขากินจุและง่วงง่าย ถ้าไม่เข้าใจ อาจตำหนิว่า เขาตะกละและเกียจคร้าน นอกจากนี้ เขาจะมีพลังผลักดันทางเพศเกิดขึ้นตามธรรมชาติ จึงควรหาทางให้เขาระบายพลังในรูปกีฬา และการประดิษฐ์ หรือสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ
บุคลิกภาพของวัยรุ่น