ประวัติจิตเวชศาสตร์และสุขภาพจิตในประเทศไทย ในสมัยโบราณ ชาวบ้านเชื่อถือเทวดา ผีสาง นางไม้ จึงมักรักษาผู้ป่วยโรคจิต โดยการเฆี่ยนตีไล่ผี สะเดาะเคราะห์ ฯลฯ บางคนก็เชื่อปาฎิหาริย์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น บ่อน้ำพรานบุญล้างเนื้อที่ใกล้พระพุทธบาท ใครป่วยเป็นโรคจิตโรคประสาท ก็ไปตักน้ำบ่อนั้นมาอาบและกิน การเยียวยาแบบอื่น ได้แก่ การใช้รากไม้สมุนไพรและยานัตถุ์ เช่น เอาสมุนไพรบด ผสมเป็นผง เป่าเข้าทางจมูก จนผู้ป่วยเมายา สงบจากความคลั่งได้ ถ้าไม่ทุเลาก็กักขัง หรือถ้าอาละวาดก็อาจชกให้สลบลงไป แล้วล่ามโซ่ จองจำไว้ | |||
โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา โรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรกของประเทศไทย | โรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรกของประเทศไทย คือ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เป็นโรงพยาบาลเก่าแก่ยุคเดียวกับโรงพยาบาลศิริราช ตั้งขึ้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๒ "คนเสียจริต" จำนวน ๓๐ คน ได้ถูกนำมาฝากรวมกันไว้ ณ สถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเดิมเป็นของพระยาภักดีภัทรากร สถานที่แห่งนี้ขึ้นกับกระทรวงธรรมการ มิได้มีลักษณะเป็นโรงพยาบาลเช่นปัจจุบัน ผู้ป่วยถูกขังไว้ในห้องลั่นกุญแจ ล้อมลูกกรงเหล็กขนาดใหญ่ ผู้ป่วยคลั่งบางคนก็ถูกล่ามโซ่ตรวน หรือใช้ยาต้ม หรือใช้ยานัตถุ์ | ||
พ.ศ. ๒๔๔๘ เปลี่ยนชื่อเป็น "โรคพยาบาลคนเสียจริตปากคลองสาน" ขึ้นกับกองแพทย์สุขาภิบาลใน กระทรวงนครบาล ซึ่งมีนายแพทย์ เอช แคมป์เบลล์ ไฮเอ็ด (H.Cambell Hyed) เป็นหัวหน้า การดูแลผู้ป่วยบกพร่องมาก จนนายแพทย์ไฮเอ็ดต้องรายงานไปยังรัฐบาล จึงได้สร้างโรงพยาบาลขึ้นใหม่ เปิดรับผู้ป่วย เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๕๕ ผู้อำนวยการคนแรก เป็นแพทย์ชาวอังกฤษชื่อ โมเดิร์น คาทิวส์ (Modern Cathews) ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอายุรเวชวิจักษ์ โรงพยาบาลแห่งนี้มุงหลังคาสี แดง ทั้งนี้เนื่องจากเป็นสถานที่ราชการ (ยุคนั้น สถานที่ราชการในประเทศอังกฤษมีหลังคาสีแดงเป็นเครื่องหมาย) สีแดงมิได้เป็นสัญลักษณ์ของความวิกลจริตตามที่บางคนเข้าใจ ผู้อำนวยการคนต่อมา คือ นายแพทย์ อาร์ เมนเดิลสัน (R. Mendleson) ศัลยแพทย์ประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้จัด "นายแพทย์ผู้รักษาการ" ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๕ ประกอบด้วยแพทย์ ๖ ท่าน คือ พระเชษฐ์ไวทยากร (ต่อมา ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข) พระบรรจงพยาบาล (ต่อมา ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ ควบคุมการประกอบโรคศิลป์) พระชาญวิธีเวช (ต่อมา ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข) หลวงไมตรีแพทยารักษ์ (ต่อมา ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระ) หลวงวิเชียรแพทยาคม (ต่อมา ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลโรคจิต และปลัดกระทรวงวัฒนธรรม) และหลวงพิจิตรภิสัชการ (ต่อมา ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลโรคเรื้อน พระประแดง) พ.ศ. ๒๔๖๘ หลวงวิเชียรแพทยาคมได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการคนแรก ซึ่งเป็นแพทย์ไทย พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้เปลี่ยนชื่อโรงพยาบาลคนเสียจริตเป็น "โรงพยาบาลโรคจิตธนบุรี" พ.ศ. ๒๔๘๕ นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ดำรง ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล และในปีนี้เอง โรงพยาบาลโรคจิตได้ย้ายมาเข้าสังกัดกรมการแพทย์ เป็นยุคสำคัญของวิวัฒนาการโรงพยาบาลฝ่ายจิตและการศึกษาจิตเวชศาสตร์
นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้วได้ก่อตั้งสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ มุ่งหนักไปในทางส่งเสริมวิชาการแก่แพทย์ และจัดตั้งสมาคมสุขภาพ จิตแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ใน พ.ศ. ๒๕๑๐ มีวัตถุประสงค์ให้ความรู้ความเข้าใจและส่งเสริมสุขภาพจิต สมาคมนี้จึงทำงานร่วมกับครูอาจารย์และผู้มีอาชีพอื่นๆ ปัจจุบัน มีภาควิชาจิตเวชศาสตร์ในโรงเรียนแพทย์ทุกแห่งในกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา หน่วยจิตเวชในโรงพยาบาลทั่วไปในบางจังหวัด ได้แก่ ยะลา สระบุรี นครสวรรค์ ชลบุรี จันทบุรี และมีแผนกจิตเวชในโรงพยาบาลทหาร ตำรวจ และเทศบาล นอกจากนี้ ได้มีการสอนวิชาสุขภาพจิตในหลัก สูตรก่อนและหลังปริญญาในแขนงวิชาต่างๆ เช่น สาธารณสุขศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ครุศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ทั้งนี้เพราะเป็นวิชาสำคัญที่ เกี่ยวข้องกับการดำรงชิวิตอย่างสร้างสรรค์ ทั้งแก่ตนเอง ผู้ใกล้ชิดในครอบครัว และเพื่อนร่วมงาน |