เล่มที่ 11
การประยุกต์คอมพิวเตอร์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การใช้คอมพิวเตอร์ในธุรกิจสายการบิน

            ธุรกิจสายการบินมีความจำเป็นต้องนำคอมพิวเตอร์มาใช้ด้วยเหตุผลหลายประการ ประการแรก เพื่อให้สามารถให้บริการได้รวดเร็ว ประการที่สอง เพื่อแข่งขันกับสายการบินอื่นๆ และประการที่สาม เพื่อรักษาความปลอดภัยในการบิน โดยช่วยให้สามารถตรวจสอบสภาพเครื่องบิน และอุปกรณ์ได้อย่างถูกต้องแน่นอน และสม่ำเสมอ

            ธุรกิจที่มีการนำเอาคอมพิวเตอร์มาใช้ อาจแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ ๓ ประเภท คือ ประเภทที่หนึ่ง ผู้โดยสาร ประเภทที่สอง สินค้าพัสดุภัณฑ์ และประเภทที่สาม บริการอื่น ๆ เช่น ครัวการบิน สินค้าปลอดภาษี และบริการรับส่งผู้โดยสารภาคพื้นดิน เป็นต้น


            ธุรกิจสายการบินเป็นธุรกิจ ที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยอย่างมาก คอมพิวเตอร์จึงมีบทบาทอย่างสำคัญ ในการตรวจสอบสภาพเครื่องบิน และอุปกรณ์

            ระบบบริการผู้โดยสารอาจจะเริ่มด้วยระบบบันทึกตารางการบิน ซึ่งบันทึกและเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลเที่ยวบิน เส้นทางบิน เวลาออก และเวลาถึง จำนวนที่นั่ง ซึ่งสามารถขายได้ และอื่นๆ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในระบบที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบงานสำรวจที่นั่งผู้โดยสาร ระบบงานสำรวจจะวางบรรทุก และระบบตรวจรับผู้โดยสาร เป็นต้น

            ระบบบริการ และโดยสาร อาจจะแยกเป็นระบบงานสำรวจที่นั่งผู้โดยสาร ระบบควบคุมการสำรองที่นั่ง ระบบพิมพ์ตั๋วอัตโนมัติ ระบบสำรองห้องพักโรงแรม ระบบชำระค่าโดยสารที่นั่งกลุ่มท่องเที่ยว และระบบติดตามกระเป๋า และสัมภาระ เป็นต้น


ธุรกิจสายการบินเป็นธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยอย่างมาก คอมพิวเตอร์จึงมีบทบาทอย่างสำคัญ ในการตรวจสอบสภาพเครื่องบิน และอุปกรณ์

            ระบบงานขนส่งสินค้าพัสดุภัณฑ์ อาจจะประกอบด้วยระบบจัดสาร และควบคุมระวางบรรทุก ระบบสำรอง ระวางบรรทุก ระบบตรวจสินค้า ระบบควบคุมคลังเก็บสินค้า ระบบตระเตรียมขนส่งขนส่งสินค้า ระบบงานสินค้าขาเข้า และระบบควบคุมและติดตามอุปกรณ์ขนส่ง เป็นต้น

            ระบบครัวการบิน เป็นระบบ ซึ่งช่วยให้การดำเนินงานครัวการบินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเก็บข้อมูลของลูกค้าว่า ใครต้องการอาหารอะไรพิเศษหรือไม่ เก็บข้อมูลตารางบินของแต่ละรายการบินที่มาใช้บริการ รายการอาหาร และเครื่องดื่มบนเครื่องบิน สูตรและวัตถุดิบที่ใช้ในการปรุงอาหาร ทั้งนี้เพื่อคำนวณต้นทุนในการผลิต และตั้งราคาวิเคราะห์คาดการสั่งซื้อวัตถุดิบให้เพียงพอแก่ความต้องการ อำนวยความสะดวกในการจัดและควบคุมวัตถุดิบ อุปกรณ์ และเครื่องมือ ตั้งแต่การจัดซื้อ การเบิกจ่าย และรับของ ไปจนถึงการบรรจุ และขนย้ายไปยังเครื่องบิน เป็นต้น


การพิมพ์ตั๋วเครื่องบินด้วยระบบอัตโนมัติ

            ระบบงานสินค้าปลอดภาษี เป็นระบบ เพื่อช่วยจัดการ และควบคุมการเบิกจ่าย จัดหาสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า บันทึกยอดขาย ตัดบัญชี และทำสถิติรายงานต่างๆ เสนอผู้บริหาร เป็นต้น

            บริการรับส่งผู้โดยสารภาคพื้นดิน เป็นระบบ เพื่อช่วยให้การบริหารการใช้รถโดยสารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเก็บประวัติการใช้ และการซ่อมของรถแต่ละคัน ระยะทาง และเชื้อเพลิงที่ใช้ในการรับส่งแต่ละเที่ยว ควบคุมการเบิกจ่าย และจัดซื้ออะไหล่สำหรับการซ่อม เป็นต้น