เล่มที่ 11
การประยุกต์คอมพิวเตอร์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การใช้คอมพิวเตอร์ทางด้านการทหารและตำรวจ

            ในสหรัฐอเมริกา การใช้คอมพิวเตอร์ในด้านการทหารได้ก้าวหน้าไปมากกว่าประเทศอื่นใดในโลก แต่ผลงานด้านนี้ มักจะเป็นผลงานชนิดลับสุดยอด ลับที่สุดเปิดเผยไม่ได้ เท่าที่พอจะทราบกัน ได้แก่ การใช้คอมพิวเตอร์ในวงจรสื่อสารทหาร ใช้ในการควบคุมประสานงานด้านการทหาร ใช้แปลรหัสลับในงานจารกรรมระหว่างประเทศ ใช้ในการผลิตระเบิดนิวเคลียร์ ใช้ในการทำสงครามจิตวิทยา ใช้ในการวิจัยเตรียมทำสงครามเชื้อโรค ใช้ในการสร้างขีปนาวุธ และใช้ในการส่งดาวเทียมจารกรรมถ่ายภาพพื้นที่ในเขตของฝ่ายตรงข้าม ส่งให้คอมพิวเตอร์วิเคราะห์ว่า มีฐานทัพอะไรอยู่ที่ใด มีการเคลื่อนย้ายกำลังทหารอย่างไร มีการเคลื่อนย้ายอาวุธร้ายแรงอย่างไร

            ตัวอย่างการใช้คอมพิวเตอร์ในทางทหารของเมืองไทยได้แก่ โครงการข่าวสารหมู่บ้าน ซึ่งรัฐบาลอเมริกันเคยร่วมช่วยเหลือในโครงการนี้ ทำให้เราทราบได้โดยละเอียดว่า หมู่บ้านใดมีชาวบ้าน ซึ่งเป็นชายเท่าใด หญิงเท่าใด และเด็กเท่าใด มีสิ่งปลูกสร้าง ช้าง ม้า วัว ควาย หมู เป็ด และไก่เท่าใด เป็นต้น

            ทางด้านกองบัญชาการทหารสูงสุด มีศูนย์กรรมวิธีข้อมูล ใช้ในการทำทะเบียนกำลังพล ใช้ในการส่งกำลังบำรุง และใช้ในการทำแบบจำลองสงคราม (war games) ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะจะช่วยให้เราทราบข้อมูลล่วงหน้าได้ว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น เราจะต่อสู้ป้องกันได้อย่างไรหรือไม่ จะต้องใช้กำลังคน ใช้อาวุธยุทโธปกรณ์มากน้อยเท่าใด

            ทางด้านการตำรวจของไทย มีศูนย์ประมวลข่าวสารกรมตำรวจ ซึ่งมีคอมพิวเตอร์ขนาดกลางใช้ทำทะเบียนรถยนต์ ทำทะเบียนใบขับขี่ ทำทะเบียนปืน ทำทะเบียนประวัติอาชญากรรม ทำงานกำลังพล และทำงานบัญชีของกรมตำรวจ
เครื่องไมโครโพรเซสเซอร์สำหรับควบคุมไฟจราจร
เครื่องไมโครโพรเซสเซอร์ สำหรับควบคุมไฟจราจร
            ในสหรัฐอเมริกานั้น มีการใช้คอมพิวเตอร์ด้านการตำรวจมากกว่าประเทศอื่นๆ เช่น ระดับรัฐบาลกลางมีทะเบียนประวัติอาชญากรทั้งประเทศ สถานีตำรวจเมืองต่างๆ จะสอบถามได้ว่า คนลักษณะอย่างนี้ หรือชื่อนั้นชื่อนี้มีประวัติหรือไม่ หรือจะส่งลายพิมพ์นิ้วมือให้คอมพิวเตอร์ค้นหาประวัติให้ก็ได้เช่นกัน

            ระดับรัฐก็มีหลายแห่ง เช่น ที่เมืองแคนซัส (Kansas City) ได้มีการสร้างเทอร์มินัลพิเศษสำหรับติดรถยนต์ตำรวจ มีแป้นพิมพ์ และจอโทรทัศน์ติดตัวโดยตรงกับคอมพิวเตอร์ โดยทางวิทยุ คอมพิวเตอร์จะพิจารณาแผนที่ของเมือง และประวัติอรรถคดีของเขตต่างๆ เสนอว่า ควรจะต้องใช้สายตรวจเท่าใด มีกำลังสำรองเท่าใด คอมพิวเตอร์จะจัดทำแผนที่ของเมือง และกำหนดเวลาให้สายตรวจต่างๆ ใช้ประจำวัน สายตรวจจะต้องพิมพ์แจ้งให้คอมพิวเตอร์ทราบว่า เมื่อขับรถมาถึงจุดสำคัญๆ แล้ว ถ้ามีผู้แจ้งขอความช่วยเหลือจากตำรวจ คอมพิวเตอร์ก็จะพิจารณาว่า สายตรวจผู้ใดอยู่ใกล้จุดที่เกิดเหตุที่สุด แล้วสั่งให้สายตรวจผู้นั้น เดินทางไปยังที่เกิดเหตุ โดยกระจายเสียงให้สายตรวจผู้นั้นทราบ ถ้าเกิดเหตุหลายๆ รายในเวลาใกล้เคียงกัน ก็แจ้งให้เจ้าหน้าที่สำรองออกช่วยงานได้

            ตัวอย่างเช่น สายตรวจผู้หนึ่งพบรถคันหนึ่งขับไม่ตรงเส้นทางเหมือนอย่างคันอื่นๆ จึงพิมพ์เลขทะเบียนเข้าคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์บอกออกมาว่า รถคันนี้เจ้าของเป็นนักเลงชองพกปืน และเคยต้องสงสัยว่า ยิงตำรวจตายมาแล้ว แต่หลักฐานไม่เพียงพอ นอกจากนี้ คอมพิวเตอร์ยังเสนอว่า อย่าพยายามเข้าทำการจับกุม ให้ตามไปห่างๆ คอมพิวเตอร์ได้แจ้งให้สายตรวจอื่นๆ ทราบแล้ว และควรจะล้อมจับ เพราะถ้าล้อมจับ ผู้ต้องหาเห็นตำรวจหลายๆ คนจะไม่กล้าต่อสู้ ถ้าเห็นตำรวจเพียงคนเดียวก็อาจจะเข้าต่อสู้ เป็นต้น

            ทางเมืองแคนซัสได้วิเคราะห์วิจัยแล้วพบว่า ถ้าไม่มี คอมพิวเตอร์จะไม่สามารถหาตำรวจมาช่วยพิทักษ์สันติราษฎร์ ได้เพียงพอ ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ตำรวจต้องมี รูปร่างใหญ่โตแข็งแรงถึงขนาดมาตรฐาน มีความรู้ความ สามารถได้มาตรฐาน รวมทั้งเมืองแล้ว ไม่มีคนที่ได้มาตร- ฐานจะเป็นตำรวจ และสนใจจะเป็นตำรวจมากเพียงพอแก่ ความต้องการ เมื่อใช้คอมพิวเตอร์ช่วย ก็ทำให้ไม่จำเป็นต้อง มีตำรวจมากมาย เพราะคอมพิวเตอร์จะช่วยในการวางกำลังตำรวจ เฉพาะเท่าที่จำเป็น และให้สามารถติดต่อกันได้ทัน ความจำเป็นเสมอ

            ส่วนทางด้านตำรวจจราจรนั้น ในต่างประเทศมีใช้กัน มาก คอมพิวเตอร์จะช่วยจัดปิดเปิดไฟเขียวไฟแดงให้ได้ จังหวะ รถไม่ติดนานเกินควร แต่เรื่องสำคัญก็ยังคงอยู่ที่ปัจจัย อื่นๆ อีกหลายประการ เช่น มารยาทของผู้ขับขี่ อัตราส่วนของจำนวนรถยนต์กับถนน การรักษาสภาพถนน และเครื่องหมายการจราจร เป็นต้น