การใช้คอมพิวเตอร์ทางด้านกฎหมายและการปกครอง การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยแก้ปัญหาด้านกฎหมายที่น่าจะมีประโยชน์มากที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ การใช้ในงานระบบข้อมูลทางกฎหมาย ในงานนี้เราต้องนำตัวบทกฎหมายทุกฉบับ รัฐธรรมนูญทุกฉบับ กฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง กฎ ก.พ. กฎ ก.ม. กฎ ก.ต. ประกาศต่างๆ ฯลฯ สรุปคดีทุกคดีว่า ใครฟ้องใคร เรื่องอะไร ศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาตัดสินว่าอย่างไร เข้าคอมพิวเตอร์ทั้งหมด หลังจากนั้นคอมพิวเตอร์ก็จะช่วยงานได้หลายอย่าง เช่น ๑. ต้องการทราบว่า รัฐธรรมนูญฉบับไหนเหมือน หรือแตกต่างกับฉบับไหนมากน้อยเท่าใด ก็ให้คอมพิวเตอร์ค้นหา และวิเคราะห์เปรียบเทียบพิมพ์ลงได้ ๒. ต้องการทราบว่า คดีแบบไหนเคยมีฟ้องร้องแล้ว ศาลตัดสินอย่างไร ก็ให้คอมพิวเตอร์ช่วยค้นหาให้ เช่น ในสหรัฐอเมริกา เคยมีกรณีภรรยาอยากทราบว่า สามีบีบหลอดยาสีฟันตรงกลางหลอดทุกที อ้อนวอนขอร้องอย่างไรก็ไม่ยอมบีบตรงก้นหลอด อย่างนี้แล้วจะฟ้องหย่าได้หรือไม่ ถ้าให้ทนายไปค้นหลักฐานคดีเก่าๆ ก็จะเสียเวลานับเป็นวันๆ ถ้าใช้คอมพิวเตอร์ช่วยหาให้ ก็จะได้คำตอบภายในเวลาเป็นนาที ในสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ มีหน่วยงานของรัฐบาลกลางของรัฐ ศาล และคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัย ที่ใช้คอมพิวเตอร์ในงานระบบข้อมูลด้านกฎหมายอย่างเต็มที่มากกว่า ๕๐ แห่ง เช่น แอสเปน (Aspen System Corporation) ซึ่งเป็นหน่วยงานเอกชนได้นำกฎหมายต่างๆ เข้าคอมพิวเตอร์ไว้รวมแล้วกว่า ๒๐๐ ล้านคำ | |||
ในสถาบันทางกฎหมาย คอมพิวเตอร์สามารถช่วยงานด้านระบบข้อมูลโดยช่วยค้นหาข้อมูลและผลการตัดสินคดี ตลอดจนวิเคราะห์เปรียบเทียบและพิมพ์ผลให้ | |||
ในอังกฤษมีบริการให้ทนายเช่าพิมพ์ดีดคอมพิวเตอร์ไว้ในสำนักงาน เสียค่าเช่าเดือนละประมาณ ๒,๐๐๐ บาท บวกค่าเวลาคอมพิวเตอร์ เมื่อมีปัญหาใดก็พิมพ์คำถามเข้าคอมพิวเตอร์ จะได้รับคำตอบในเวลาเป็นนาที ในฝรั่งเศส และเบลเยียมมีบริการคอมพิวเตอร์ให้ทนายถามปัญหาได้ ในราคาปัญหาละเพียง ๓๐-๕๐ บาท เท่านั้น แต่ในกรณีนี้ ผู้ถามจะส่งคำถามไปที่ศูนย์ตอบปัญหาทางกฎหมาย ซึ่งมีเทอร์มินัลใช้ เจ้าหน้าที่ศูนย์จะพิมพ์คำถามเข้าเครื่อง เมื่อเครื่องพิมพ์คำตอบแล้ว จึงส่งคำตอบไปให้ผู้ถามทางไปรษณีย์ หรือโทรพิมพ์ ในรัสเซียก็ได้มีการใช้คอมพิวเตอร์ทางด้านกฎหมาย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๓ โดยสถาบันกลางด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์ทางกฎหมาย (Central Scientific research Institute for Legal Matters) ในระดับนานาชาติก็ได้มีการตั้งสมาคมเอกสารกฎหมายนานาชาติ (International Association of Legal Documentation-Interdoc) ขึ้น เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ โดยมีวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งในบรรดาหลายข้อว่า จะจัดตั้งศูนย์คอมพิวเตอร์ เพื่อข้อมูลทางกฎหมายระหว่างชาติขึ้น | |||
ตัวอย่างข้อมูลทางกฎหมายที่เก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ | |||
อีกตัวอย่างหนึ่งของการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยแก้ปัญหา เรื่องกฎหมายก็คือ เรื่องพยานหลักฐาน ในอังกฤษมีพระราชบัญญัติพยานหลักฐานทางกฎหมาย (Criminal Evidence Act of 1965) เป็นกฎหมายฉบับแรกในโลก ที่ยอมให้ใช้หลักฐานจากคอมพิวเตอร์ เป็นพยานหลักฐานทางกฎหมายได้ กฎหมายฉบับนี้ระบุว่า ในกรณีที่พยานไม่สามารถให้ปากคำได้ โดยเหตุเพราะอยู่ต่างประเทศ ตาย วิกลจริต หายสาบสูญ หรือความจำเสื่อม ให้ใช้หลักฐานที่ได้บันทึกไว้ในคอมพิวเตอร์ในการปฏิบัติงานตามปกติ มาเป็นพยานหลักฐานได้ เช่น ถ้ามีการซื้อขายรถ โดยการจ่ายเช็คเข้าธนาคาร ซึ่งใช้คอมพิวเตอร์ ต่อมาเกิดการสืบสวนสงสัยว่า จะเป็นรถเถื่อน ต้องการทราบราคาซื้อขาย ก็อาจใช้เอกสารที่ธนาคารบันทึกไว้ในคอมพิวเตอร์ เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีได้ ทางด้านการปกครองนั้นก็อาจจะเริ่มตั้งแต่รัฐบาล อันที่จริงแล้ว ผู้สนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์คิดค้นสนใจสร้างคอมพิวเตอร์ขึ้นมา ก็คือรัฐบาลนั่นเอง เริ่มตั้งแต่รัฐบาล อังกฤษให้เงินสนับสนุนสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๕ ต่อมา ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาก็สนับสนุนให้อาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ ช่วยกันสร้างคอมพิวเตอร์ ปัจจุบัน รัฐบาลอังกฤษก็ยังสนับสนุนคอมพิวเตอร์อยู่ โดยเป็นหุ้นใหญ่ในบริษัทไอซีแอล (ICL) และบังคับให้หน่วยราชการ ใช้เครื่องของไอซีแอล ส่วนรัฐบาลสหรัฐอเมริกาก็จัดตั้งสำนักงานกิจกรรมคอมพิวเตอร์ (Office of Computer Activities) ขึ้น ในมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (National Science Foundation) ให้ทุนสนับสนุนการวิจัย ด้านคอมพิวเตอร์มากมาย รัฐบาลญี่ปุ่นก็มีนโยบายสนับสนุนกิจกรรมคอมพิวเตอร์อย่างกว้างขวาง รัฐบาลรัสเซียและรัฐบาลจีน ก็พยายามแสวงหาวิทยาการด้านคอมพิวเตอร์ จากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่น อีกตัวอย่างหนึ่งที่อาจใช้คอมพิวเตอร์ได้ก็คือ การ เลือกตั้ง ในสหรัฐอเมริกามีหลายรัฐที่มีเครื่องลงคะแนนเสียง โดยกดเข้าคอมพิวเตอร์ พอถึงเวลาปิดการลงคะแนน คอมพิวเตอร์ก็บอกให้ได้ทันทีว่า ผู้สมัครคนใดได้คะแนน เท่าใด ในบ้านเราก็ได้มีการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการประมวลผลการเลือกตั้งหลายครั้งแล้ว และมีแนวโน้มว่าจะ ใช้เพิ่มขึ้น เมื่อเลือกตั้งกันเรียบร้อยแล้ว ก็อาจใช้คอมพิวเตอร์ เข้าช่วยในการจัดตั้งรัฐบาล ตัวอย่างเช่น ในการจัดตั้งรัฐบาล มีข้อเรียกร้องต่อรองต่างๆ มากมาย ในชุดคำสั่งอาจ สมมติให้ผู้ใหญ่ในแต่ละพรรคเสนอ เช่น นาย ก. ต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ต้องให้นาย ข. เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม หรือกระทรวงมหาดไทย นาย ข. จะยอมเป็นรัฐมนตรีกลาโหม ถ้านาย ค. หรือนาย ง. เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกลาโหม และถ้านาย จ. ไม่เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ส่วนนาย ค. ต้องเป็นรัฐมนตรีอุตสาหกรรม หรือรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ และต้องการอย่างอื่นๆ อีกหลายข้อ ทุกคน ทุกพรรค ก็มีข้อเรียกร้อง มีข้อต่อรองกันมากมาย นอกจากนี้ ยังมีหลักการกว้างๆ อีก เช่น รัฐมนตรีว่าการ และช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการจะต้องมีวุฒิอย่างน้อยจบปริญญาตรี รัฐมนตรีทบวงมหาวิทยาลัย ถ้าเป็นศาสตราจารย์ได้ก็ดี รวมแล้วมีข้อเรียกร้องต่างๆ เป็นร้อยๆ ข้อ ถ้าผู้มีหน้าที่จัดตั้งรัฐบาลให้คอมพิวเตอร์ทำก็ใช้วิธีที่เรียกว่า ซีโรวัน (zero-one programming) คอมพิวเตอร์จะพิมพ์บอกออกมาให้ว่าข้อต้องการต่างๆ ทั้งหมดนั้นมากเกินไปทำไม่ได้ จะต้องยอมยกเลิกบางข้อบ้าง เช่น ถ้านาย ก. และนาย ข. ต่างก็ต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรีทั้งคู่ และไม่ยอมรับ ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดแทนเลย คอมพิวเตอร์ก็ต้องบอกว่า เป็นไปไม่ได้ ต้องให้ทั้งนาย ก. และนาย ข. หรืออย่างน้อยก็ ๑ ใน ๒ คนนั้น ยอมรับตำแหน่งรองนายก หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่สำคัญ หรือเรียกร้องตำแหน่งให้ลูกพรรคเพิ่มขึ้น ถ้าข้อเรียกร้องทั้งหมดทั้งปวงมีทางทำให้ทุกคนพอใจได้ คอมพิวเตอร์ก็จะเสนอคณะรัฐบาลหลายๆ ชุด แต่ละชุดทำให้ทุกคนพอใจได้หมด บางคน ก็ได้ตำแหน่งที่ตนเลือกเป็นอันดับ ๑ บางคนก็ได้ตำแหน่งที่ตนเลือกเป็นอันดับ ๒ หรืออันดับ ๓ แต่อย่างน้อยทุกคนก็ได้ตำแหน่งตามที่เลือกไว้ ต่อจากนั้น บุคคลผู้มีอำนาจได้รับมอบหมายให้จัดตั้งรัฐบาล ก็จะเลือกคณะรัฐมนตรีชุดใดชุดหนึ่งตามความพอใจของตน โดยอาจใช้เหตุผลส่วนตัวที่ไม่ต้องการเปิดเผยให้ผู้ใดทราบ มาประกอบการตัดสินใจได้
เมื่อตั้งรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว หากมีโครงการใดเป็น พิเศษ เช่น การจัดสรรที่ดิน การออกโฉนดให้ได้จำนวน มากในเวลาอันรวดเร็ว ก็ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยได้ ถ้ามีโครง การผันเงินไปช่วยตำบลหรือชนบทต่างๆอาจใช้คอมพิวเตอร์ ช่วยจดประวัติ ลงทะเบียน และให้ข้อมูลในการคัดเลือกโครงการ และเพื่อการติดตามประเมินผล เป็นต้น โดยสรุปแล้วรัฐบาลก็คล้ายๆ กับคณะผู้จัดการบริษัท ใหญ่ๆ บริษัทใหญ่ๆ ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการปฏิบัติงาน ช่วยในการบริหารกิจการให้ได้ผลรวดเร็วคุ้มค่าฉันใด รัฐบาล ก็ควรจะใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการบริหารบ้านเมืองให้ได้ผลดี แก่ประชาชนและประเทศฉันนั้น ส่วนด้านการปกครองท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร หรือ กทม. ก็ได้ดำเนินการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการเก็บภาษีโรงเรือนให้ได้ผลดีขึ้น ในต่างประเทศบางแห่งได้ใช้คอมพิวเตอร์ในด้านการเงิน เพื่อวิเคราะห์รายรับรายจ่าย ควบคุมงบ ประมาณ และทำบัญชีต่างๆ ทางด้านการศึกษาประชาบาลได้ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยเก็บประวัติเด็ก ช่วยพยากรณ์ว่า ปีต่อไปจะต้องเพิ่มห้องเรียน เพิ่มครูหรือไม่อย่างไร หนังสือเรียนที่พิมพ์ไว้แล้วยังเหลือเท่าใด ควรจะเปลี่ยนเป็นเล่ม ใหม่หรือไม่ ถ้าเปลี่ยนแล้ว จะต้องเริ่มพิมพ์เมื่อใด จึงจะพิมพ์ได้ทันโรงเรียนเปิดเทอม และทางด้านสาธารณสุขก็ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการทำทะเบียนยา ที่ใช้ในการปลูกฝีฉีดยา ในการควบคุมโรคระบาดต่างๆ เป็นต้น |