การใช้คอมพิวเตอร์ในโรงงานอุตสาหกรรม ในโรงงานอุตสาหกรรมนั้น นอกจากจะใช้คอมพิวเตอร์ทำบัญชีต่างๆ เช่น บัญชีเงินเดือน บัญชีลูกหนี้ และบัญชีเจ้าหนี้แล้ว ก็อาจจะใช้คอมพิวเตอร์ช่วยงานของโรงงานโดยตรง เช่น การจัดส่งสินค้าตามใบสั่ง การควบคุมวัสดุคงคลัง การจัดการผลิต และการคิดราคาต้นทุนสินค้า เป็นต้น ในการจัดสินค้าส่งตามใบสั่ง (order filling) นั้น วัตถุประสงค์ เพื่อให้สามารถจัดส่งสินค้าให้ลูกค้า โดยรวดเร็ว สมมติว่า พนักงานเจาะบัตรเจาะใบสั่งสินค้าของบ่ายวันที่ผ่านมา และของเช้าวันนั้นเสร็จภายใน ๑๒.๐๐ นาฬิกา ระหว่างเวลาที่พนักงานหยุดพักรับประทานอาหารกลางวัน คอมพิวเตอร์ก็จะพิมพ์ใบหยิบสินค้า (picking label) ให้ เมื่อพนักงานคลังสินค้ากลับเข้าทำงานเวลา ๑๓.๐๐ น. ก็เริ่มจัดสินค้าลงหีบห่อได้ทันทีภายใน ๑๗.๐๐ นาฬิกาของวันนั้น ส่วนตอนเช้า พนักงานคลังสินค้าก็จะได้มีเวลาตรวจสินค้าคงคลัง และจัดสินค้าที่มาใหม่ นอกจากพิมพ์ใบหยิบสินค้าแล้ว คอมพิวเตอร์จะพิมพ์ใบจัดสินค้าเข้าหีบห่อ (packing slips) จัดปรับปรุงแก้ไขแฟ้มข้อมูลวัสดุคงคลัง และจัดรายการสำหรับทำใบส่งของ ถ้าสินค้าไม่พอ คอมพิวเตอร์ก็จะทราบ เพราะมีแฟ้มข้อมูลวัสดุคงคลังอยู่ คอมพิวเตอร์จะจัดส่งสินค้าที่ขาดให้ เพื่อจัดส่งในวันต่อๆ ไป คอมพิวเตอร์อาจจะทำรายงานต่างๆ ให้ด้วย เช่น จำนวนลูกค้าที่สั่งสินค้าแต่ละชนิด จำนวนชิ้นสินค้าที่สั่งโดยเฉลี่ย และเนื้อที่ หรือปริมาตรที่ต้องใช้ในการเก็บสินค้า เมื่อส่งสินค้าได้เร็วขึ้นก็มีทางเก็บเงินได้เร็วขึ้น มีทางขายสินค้าได้มากขึ้น และเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาสินค้าน้อยลง นอกจากจะใช้คอมพิวเตอร์ช่วยจัดสั่งสินค้าแล้ว ก็อาจใช้คอมพิวเตอร์ช่วยงานสินค้าคงคลัง ซึ่งจะเห็นผลได้ชัดเจน ทั้งทางด้านความต้องการเงินสด และด้านกำไร หลักสำคัญก็คือ จัดส่งสินค้าจากผู้ผลิตให้มีมากพอขาย แต่ไม่ให้มากเกินไป ถ้ามีสินค้ามากเกินไปขายไม่หมด ก็เสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา และเสียผลประโยชน์ ที่จะได้จากการเอาเงินไปใช้หมุนเวียนทางอื่น | |
การควบคุมวัสดุคงคลังที่ใช้คอมพิวเตอร์เข้าช่วยจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น | |
ข้อมูลที่สำคัญในการควบคุมวัสดุคงคลัง คือ แฟ้มข้อมูลหลัก ซึ่งอาจจะได้มาจากระบบจัดสั่งสินค้า หรือสร้างขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อทำงานด้านวัสดุคงคลัง อย่างไรก็ตามแฟ้มข้อมูลหลักจะระบุความต้องการของสินค้าทุกชนิดในอดีต และการเคลื่อนไหวของสินค้าเหล่านั้นในปัจจุบัน การใช้ประวัติความต้องการสินค้ามาทำนายความต้องการในเดือนต่อๆ ไป มีสูตรและวิธีทำนายหลายประเภท วิธีทำนายต่างๆ นี้ มีผลต่างกัน ฉะนั้นพนักงานจัดซื้อจะต้องพิจารณาการทำนายแบบต่างๆ นี้โดยถี่ถ้วน จะต้องพิจารณาผลที่ได้จากการลงทุน ความยากง่าย และปลอดภัยในการเก็บสินค้า เวลาที่ต้องรอตั้งแต่เริ่มสั่งจนได้รับสินค้า คอมพิวเตอร์จะใช้ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ ไปคิดว่า เมื่อใดควรจะสั่งสินค้าชนิดใดเท่าใด นอกจากประวัติความต้องการสินค้าแล้ว คอมพิวเตอร์จะคำนึงถึงข้อมูลภายนอก เช่น สภาวะเศรษฐกิจทั่วๆ ไป และกรณีพิเศษต่างๆ ด้วย เป็นต้น พนักงานคลังสินค้าควรจะตรวจสอบสินค้าที่มีอยู่จริงว่า ตรงกับบัญชีของคอมพิวเตอร์หรือไม่ ถ้ามีความแตกต่างกันเล็กน้อย ก็อาจจะปรับบัญชีของคอมพิวเตอร์ให้ตรงกับของจริงเป็นครั้งคราว แต่ถ้าแตกต่างกันมากก็จะต้องสืบหาเหตุผล ถ้าใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมวัสดุคงคลังแล้ว ก็อาจใช้ชุดคำสั่งเดียวกันนั้น ช่วยในการจัดซื้อได้ด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารควรตรวจดูจำนวน และชนิดสินค้าที่คอมพิวเตอร์เสนอให้ซื้อและเปลี่ยนแปลงแก้ไขบ้าง ตามสภาวะเศรษฐกิจ และสภาวะธุรกิจที่ผู้บริหารทราบดีกว่าคอมพิวเตอร์ ถ้าผู้บริหารเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายการสั่งซื้อ ก็ควรแก้รายการในคอมพิวเตอร์ให้ตรงกันด้วย จากนั้นคอมพิวเตอร์ก็อาจพิมพ์จดหมายสั่งซื้อสินค้า และจัดทำแฟ้มสั่งสินค้า เมื่อสินค้าที่สั่งมาถึงคลัง พนักงานรับสินค้าจะต้องตรวจของว่า ถูกต้องตามที่สั่งหรือไม่ แล้วแจ้งให้คอมพิวเตอร์ทราบ เพื่อจัดแฟ้มรับสินค้า และหักบัญชีจากแฟ้มสั่งสินค้า พร้อมทั้งพิมพ์รายงานว่า สินค้าชนิดใดได้รับแล้ว ชนิดใดยังไม่ได้รับ ชนิดใดสั่งไปนานเท่าใดแล้ว ปกติควรจะใช้เวลาเท่าใด รายงานนี้อาจนำมาใช้จัดลำดับผู้ผลิตว่า บริษัทผู้ผลิตใดบริการดีหรือไม่ดีอย่างไร เพื่อจะได้เลือกสั่งสินค้าจากผู้ผลิตที่บริการดีในภายหลัง | |
การควบคุมการผลิตอาหารสัตว์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ | |
นอกจากสินค้าที่สั่งจากผู้ผลิตภายนอกแล้ว บาง บริษัทอาจผลิตสินค้าบางอย่างขึ้นเอง หรือนำสินค้าที่สั่งจาก ภายนอกมาบรรจุขวดหรือกล่องที่มีขนาดเล็กลง การผลิต สินค้านี้อาจแบ่งเป็น ๒ แบบ คือ ผลิตตามที่ลูกค้าสั่ง (manufacture-to-order) และผลิตเข้าคลัง (manufacture-to- stock) ในการนี้เราอาจใช้คอมพิวเตอร์ช่วยจัดวาระการผลิต สินค้า เพื่อให้ผลิตสินค้าได้ทันตามกำหนดเวลาที่ตกลงไว้ กับลูกค้า หรือให้มีพอขายจากคลัง คอมพิวเตอร์อาจต้องออกกำหนดการผลิต ระบุว่าจะ ต้องผลิตอะไร เมื่อใด ก่อนหรือหลังสิ่งใด ถ้าไม่ใช้ คอมพิวเตอร์ก็อาจทำกำหนดการผลิตได้ แต่จะเสียเวลามาก และอาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร คอมพิวเตอร์จะแปลความ ต้องการสินค้าเป็นความต้องการทางด้านงานต่างๆ ว่า สินค้า ใดจะต้องผลิตเป็นจังหวะอย่างไร แยกเป็นงานย่อยอย่างไร จะแบ่งพนักงานออกทำงานทางใดเมื่อใด เมื่องานใดเสร็จ คอมพิวเตอร์ก็จะจัดการปรับกำหนดต่างๆ ให้สอดคล้องกันด้วย การใช้คอมพิวเตอร์จะช่วยให้ประสิทธิภาพของโรงงาน ดีขึ้น เช่น แทนที่จะทำงานที่ ๑ ตามด้วยงานที่ ๒ งาน ที่ ๓ เรื่อยๆ ไปตามใบสั่ง คอมพิวเตอร์อาจจะช่วยวิเคราะห์ ก่อนว่างานที่ ๑ กับที่ ๓ และที่ ๕ เป็นงานแบบเดียวกัน ควรจัดกำหนดการทำติดต่อกันไปให้เสร็จ แล้วจึงค่อยทำงานที่ ๒ และที่ ๔ ซึ่งทำให้เสียเวลาปรับเครื่องน้อยลง ดังนี้ เป็นต้น เมื่อประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น ราคาค่าผลิต ก็จะต่ำลง เป็นประโยชน์ทั้งด้านผู้ผลิต ผู้ขาย และผู้ซื้อ จากการใช้คอมพิวเตอร์จัดวาระการผลิตสินค้า และ จากบัตรลงเวลาที่ใช้ในการทำบัญชีเงินเดือน เราอาจให้ คอมพิวเตอร์ช่วยวิเคราะห์ต่อไปอีกขั้นหนึ่งว่า พนักงานผู้ใด ทำงานชนิดใดได้ผลดี ทำงานชนิดใดได้ผลไม่ดี เพื่อเก็บข้อมูลเหล่านี้ ไว้ใช้ในการจัดให้ผู้ใดทำงานอะไรอย่างไรต่อไป นอกจากนี้ ยังอาจให้ตีราคางานที่กำลังทำอยู่และที่ ทำเสร็จไปแล้ว การตีราคางานที่กำลังทำอยู่นั้น อาจจะใช้ เป็นประโยชน์ในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงงานที่ยังเหลือ เช่น สินค้าชนิดหนึ่งมีผู้สั่งจำนวนมากในราคาหนึ่ง เมื่อทำไปได้เพียงครึ่งเดียว ปรากฏว่า ค่าแรงค่าวัสดุสูงกว่าที่คาดไว้มาก ฝ่ายบริหารก็จะได้พิจารณาว่า มีทางเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อลดค่าใช้จ่ายของส่วนที่ยังเหลือได้หรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ก็จะได้รีบ ขึ้นราคาสินค้าชนิดนั้นก่อนที่จะมีผู้สั่งเพิ่มเติม การตีราคางานที่เสร็จแล้วนั้น อาจจะนำมาใช้วัดสมรรถภาพของหน่วย งานต่างๆ ได้ด้วย ผลการใช้คอมพิวเตอร์จัดบุคลากรและตีราคางานนี้ จะช่วยให้บริษัทควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างใกล้ชิด และช่วยในการพิจารณาการตัดรายจ่ายว่า ควรตัดทางด้านใดอย่างไร การใช้คอมพิวเตอร์ในโรงงานอุตสาหกรรมนี้ รวม ถึงการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมด้วย |