ปลากัดเป็นปลาพื้นเมืองของไทยที่นิยมเพาะเลี้ยงกันมานาน ทั้งเพื่อความสวยงาม และเพื่อเป็นเกมกีฬา การกัดปลาเช่นเดียวกับการชนไก่ ปลากัดเลี้ยงง่ายไม่ต้องดูแลเอาใจใส่มาก ไม่ต้องเปลี่ยนน้ำบ่อย และเนื่องจากมีอวัยวะช่วยหายใจพิเศษ จึงอาศัยอยู่ในบริเวณน้ำนิ่งที่มีออกซิเจนต่ำได้ ปลากัดไทยมีลักษณะสวยงาม ดูจากสี รูปร่าง และกิริยาอาการ สีของปลากัดมีทั้งที่เป็นสีเดียว สีผสม และลวดลายต่างๆ
v
ปลากัดตัวผู้จะสร้างรังหรือหวอด คอยดูแลไข่และตัวอ่อน การสร้างหวอดกระทำโดยการฮุบเอาอากาศเข้าไป แล้วพ่นน้ำเป็นฟอง ลอยอยู่บริเวณผิวน้ำ หลังจากสร้างหวอดเสร็จแล้ว ปลากัดตัวผู้และปลากัดตัวเมียจะผสมพันธุ์กัน โดยปลากัดตัวเมียจะถูกปลากัดตัวผู้รัดและปล่อยไข่ออกมาเป็นชุดๆ ให้ปลาตัวผู้ฉีดน้ำเชื้อเข้าผสม ไข่ที่มีน้ำเชื้อผสมแล้ว จะจมลงสู่เบื้องล่างอย่างช้าๆ ปลาตัวผู้จะว่ายไปอมไข่ไว้ แล้วนำไปพ่นติดที่หวอด ทำเช่นนี้จนตัวเมียวางไข่หมด ซึ่งใช้เวลา ๑ - ๖ ชั่วโมง หลังจากนั้นปลาตัวผู้จะคอยดูแลไข่ซึ่งจะฟักออกเป็นตัวในเวลาประมาณ ๓๖ ชั่วโมง ส่วนปลาตัวเมียจะถูกปลาตัวผู้ไล่ ให้ออกห่างพ้นไปจากหวอด เพื่อมิให้กินไข่ปลาและลูกปลา
การต่อสู้กันของปลากัดมีหลายวิธี เช่น หันหัวไปทางเดียวกันและโจมตีกัดกัน โดยใช้ฟันกัดบริเวณครีบ จนครีบขาดวิ่นไปเรื่อยๆ และกัดต่อที่ด้านข้างลำตัว หรืออาจโจมตีกันซึ่งๆ หน้า โดยใช้ปากกัดประสานกันเพื่อล็อกขากรรไกร อาจจะกัดในท่านี้ประมาณ ๒๐ ครั้ง จนรู้แพ้รู้ชนะกันไป