เล่มที่ 18 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย
เล่นเสียงเล่มที่ 18 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            ย้อนหลังไปหลายหมื่นหลายพันปี โลกมีแต่ต้นไม้ และสัตว์ป่า มนุษย์สมัยโบราณอาศัยอยู่ตามถ้ำ เชิงผา และโคนต้นไม้ใหญ่ในป่า ต่อมาคนเราฉลาดขึ้น รู้จักสร้างบ้านจากวัสดุธรรมชาติ เอากิ่งไม้มาทำเป็นโครงบ้าน เอาใบไม้ หญ้า ดินหนียว มามุงหลังคา ทำเป็นเพิง เพื่อพักอาศัย
            มนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ก็อาศัยอยู่ตามถ้ำในป่าเช่นกัน จับสัตว์ หาผัก และผลไม้ กินเป็นอาหาร เมื่อสัตว์และผลไม้หายากเข้า ก็จะย้ายไปหาถิ่นที่อุดมสมบูรณ์ต่อไปเรื่อยๆ
            ที่ใดมีน้ำ ก็จะตั้งบ้านเรือนที่นั่น

            เราจะเห็นคนอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านตามริมแม่น้ำ ลำคลอง ห้วย หนอง บึง และตามชายฝั่งทะเล เพราะคนต้องการน้ำไว้กินไว้ใช้ในการเพาะปลูก และใช้เป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อกัน
            ภูมิอากาศเป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งในการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน

            ที่ใดมีภูมิอากาศดี ฝนตกชุ่มฉ่ำ เหมาะแก่การปลูกพืช ผู้คนก็จะเลือกไปอยู่ ไปทำมาหากิน และตั้งหลักฐานบ้านเรือนที่นั่น
            ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า การตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยนั้น บรรพบุรุษของเราเป็นผู้ที่มีสายตากว้างไกล จึงเลือกตั้งถิ่นฐานที่แหลมทอง อันเป็นถิ่นที่มีสภาพแวดล้อมสมบูรณ์ที่สุด เราจึงควรสำนึกในบุญคุณนี้ และช่วยกันรักษาบ้านเรือนของเรา ให้มีสภาพที่อุดมสมบูรณ์ตลอดไป