เล่มที่ 12 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
แผนที่
เล่นเสียงเล่มที่ 12 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ แผนที่
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            แผนที่ คือ รูปภาพ ซึ่งช่วยให้เรารู้ว่า พื้นผิวของโลกมีลักษณะเป็นอย่างไร แผนที่ช่วยให้เรารู้ที่ตั้งของประเทศ รู้ที่ตั้ง ของจังหวัด รู้ตำแหน่งของภูเขา รู้ที่เกิดของแม่น้ำ รู้เส้นทางของถนน รู้ตำแหน่งของสะพาน รู้ขนาดของอำเภอ และตำบล รู้ลักษณะของฝั่งทะเล และอื่นๆ อีกมาก ดังนั้นแผนที่จึงเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับนักเดินทาง และคนทุกคน

            แผนที่อาจทำขึ้นได้สองแบบ ได้แก่ แผนที่ลายเส้น กับแผนที่รูปถ่าย ถ้าเราใช้แผนที่สองแบบนี้ประกอบกัน ก็จะสามารถเข้าใจถึงลักษณะ และที่ตั้งของบริเวณที่ต้องการได้อย่างถูกต้องชัดเจน
 
            แผนที่ลายเส้นนั้น แสดงรายละเอียดต่างๆ บนพื้นผิวโลก ด้วยเส้น เช่น ตามลักษณะของฝั่งทะเล ของเกาะ ของทิวเขา และของแม่น้ำ ส่วนแผนที่รูปถ่ายนั้น แสดงลักษณะต่างๆ ด้วยภาพถ่ายทางอากาศ เป็นภาพมองกว้างๆ จากที่สูงอย่างนก ทำขึ้นจากภาพถ่าย จากเครื่องบิน ซึ่งถ่ายลงมาตรงๆ ตามแนวดิ่ง
            การทำแผนที่เป็นเรื่องค่อนข้างยุ่งยาก เนื่องจากโลกของเรา มีสัณฐานกลม และมีขนาดกว้างใหญ่มาก จึงเป็นการยาก ที่จะกำหนดจุดใดจุดหนึ่ง หรือบริเวณใดบริเวณหนึ่ง ให้ถูกต้องแน่นอนลงไปบนแผนที่ ซึ่งเป็นกระดาษแบนราบได้ แต่เนื่องจากแผนที่ของแต่ละประเทศเป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็น ดังนั้น ทุกประเทศจึงต้องจัดทำแผนที่ประเทศของตนเองขึ้นไว้

            ประเทศไทยเริ่มทำแผนที่ของประเทศมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๘ คือ เมื่อประมาณร้อยปีมาแล้ว แผนที่ ซึ่งทำขึ้นในระยะต้นๆ เป็นแผนที่ลายเส้นของบริเวณถนนเจริญกรุง บริเวณพระบรมมหาราชวัง และแผนที่บริเวณปากอ่าวไทย เพื่อใช้ในการเดินเรือ และใช้เป็นแนวป้องกันทางทะเล
 
            ต่อมา กรมแผนที่ทหารได้ทำการสำรวจ และทำแผนที่ภายในประเทศขึ้น ในบริเวณที่ยังมิได้เคยมีการทำแผนที่มาก่อน และภายหลังได้ใช้วิธีถ่ายรูปทางอากาศ เพื่อนำมาทำแผนที่ได้ทั้งหมด ทั่วประเทศ

            ในปัจจุบัน กรม
แผนที่ทหาร ได้สำรวจทางพื้นดินและสำรวจ ทางอากาศ เพื่อทำแผนที่พื้นดินภายในประเทศขึ้น หลายชนิด และ หลายมาตราส่วน ที่สำคัญคือ แผนที่มูลฐานมาตราส่วน ๑:๕๐,๐๐๐ ครอบคลุมทั่วประเทศ รวม ๘๓๐ ระวาง สำหรับใช้ในกิจการทหาร และการพัฒนาประเทศ
            ได้มีหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ นำแผนที่มูลฐาน และรูปถ่ายทางอากาศ ไปใช้ในการพัฒนาประเทศอย่างมากมาย ได้แก่ การเลือกหาแนวทางสร้างถนนสายใหม่ การตัดถนนเข้าหมู่บ้านที่จะพัฒนา การสำรวจดิน เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด การอนุรักษ์ดินและน้ำ การศึกษาสภาพความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าไม้ การแสดงขอบเขตป่า การวางแผนจัดการป่าไม้ อุทยานแห่งชาติ รวมทั้งทำแผนที่แสดงต้นน้ำลำธาร การทำแผนที่ธรณีวิทยา เพื่อนำไปหาแหล่งแร่แหล่งน้ำ การวางแผนพัฒนาท้องถิ่นทั่วประเทศ การสร้างเขื่อน สร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การสร้างหมู่บ้านอพยพให้ราษฎร การวางสายไฟฟ้าแรงสูง และสถานีไฟฟ้าย่อย การวางข่ายโทรศัพท์ทางไกลทั่วประเทศ
            นอกจากนั้น ยังได้นำแผนที่ และรูปถ่าย ไปใช้ในการศึกษาวิจัย ทางด้านธรณีวิทยา การผังเมือง การสำรวจหาแหล่งชุมชน ศึกษา วางแผน และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ตลอดจนศึกษาวิจัยชุมชนโบราณ อีกด้วย นับได้ว่า แผนที่เป็นสิ่งสำคัญ และมีประโยชน์มาก
            ในบรรดาผู้ใช้แผนที่ เพื่อการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นผู้ที่ใช้แผนที่มากที่สุด พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังท้องถิ่นทั่วทุกหนทุกแห่งของประเทศ เพื่อวางโครงการช่วยเหลือราษฎรให้พ้นจากความทุกข์ยาก โครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ทรงสนพระทัยมากที่สุด ได้แก่ การจัดหาแหล่งน้ำให้แก่ราษฎร ในการนี้ พระองค์จะทรงใช้แผนที่ด้วยทุกครั้ง เมื่อจะทรงวางแผนงาน แผนที่ ซึ่งทรงใช้ เป็นแผนที่ที่ทรงทำขึ้นเองด้วยพระหัตถ์ โดยเพิ่มเติมรายละเอียดลงในแผนที่ ของกรมแผนที่ทหาร

            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ทรงเป็นผู้ใช้
แผนที่ที่ดี และทรงใช้แผนที่ ในการพัฒนาประเทศมากที่สุด