ประเทศไทยมีชาวนาชาวไร่เป็นจำนวนมาก และส่วนมากมีฐานะยากจน มีความเป็นอยู่ไม่ค่อยดี เช่น ที่อยู่อาศัยไม่ถูกสุขลักษณะ อาหารที่รับประทานมีคุณค่าไม่เพียงพอ โรคภัยไข้เจ็บชุกชุม รัฐบาลทุกสมัยได้พยายามช่วยเหลือ โดยจัดทำโครงการต่างๆ แต่ก็ยังกระจายไม่ค่อยทั่วถึง และไม่ได้เน้นให้ชาวบ้านพึ่งตนเองเท่าที่ควร ในช่วงหลังๆ รัฐบาลจึงได้วางแผนการช่วยเหลือระยะยาว โดยให้กระทรวงต่างๆ คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ วางแผน และดำเนินการพัฒนา ในแนวทางเดียวกัน และส่งเสริมกัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงห่วงใยเกษตรกร จึงได้ทรงจัดตั้งโครงการต่างๆ และทรงให้แนวความคิด เพื่อช่วยให้เกษตรกรเหล่านั้น มีรายได้มากขึ้น และมีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น คือ
๑. ให้ราษฎรพึ่งตนเองได้ โดยรวมกลุ่มกันจัดทำสิ่งต่างๆ เป็นของส่วนรวม เพื่อแก้ปัญหา หรือร่วมกันทำมาหากิน
๒. ให้ใช้หลักวิชาการสมัยใหม่ ในการประกอบอาชีพ เช่น รู้จักการใช้ปุ๋ย เลือกพืชให้เหมาะสมกับสภาพที่ดิน และสิ่งแวดล้อม และใช้วิธีปลูก และบำรุงรักษาที่เหมาะสมกับพืช การนำส่วนต่างๆ ของพืชมาใช้ประโยชน์ หรือแปรรูป เพื่อให้ราคาดีขึ้น และการจำหน่ายผลิตผลให้ได้ราคาดี
๓. ให้ช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไว้ทำมาหากินได้นานๆ เช่น อนุรักษ์ป่าไม้ให้มีต้นไม้มากๆ เพื่อจะได้ใช้ไม้ ได้หาของป่า ได้ช่วยให้ฝนตก และป้องกันน้ำท่วมอย่างรุนแรง อนุรักษ์ดินคือ ทำให้ดินที่เปรี้ยว และดินพรุ ซึ่งเป็นดินเสียกลับเป็นดินดีที่ปลูกพืชต่างๆ ได้ และอนุรักษ์น้ำ เพื่อให้มีน้ำที่ดีใช้ตลอดเวลา
๔. ให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตที่ดี คือ ให้มีอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน มีเครื่องนุ่งห่มพอเพียง มีที่อยู่อาศัยถูกสุขอนามัย มีการศึกษาหาความรู้ เพื่อการทำมาหากิน และการดำรงชีวิตประจำวันที่ถูกต้อง เสริมสร้างคุณธรรม และจริยธรรม เช่น ไม่เล่นการพนัน ไม่ดื่มเหล้า รู้จักรักษาสุขภาพ เช่น รักษาอาหารและน้ำให้สะอาด รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุ
เพื่อให้บรรลุผลตามแนวความคิดทั้ง ๔ ข้อข้างต้น จำเป็น ต้องศึกษาปัญหา และทางแก้ปัญหา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงโปรดให้มีโครงการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง และวิจัย ในพระราชฐานส่วนหนึ่ง และนอกพระราชฐานอีก ๖ แห่ง ตามพื้นที่ต่างๆ ที่มีลักษณะต่างกัน คือ ที่จังหวัดจันทบุรี ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี สกลนคร เชียงใหม่ และนราธิวาส