คนเราต้องรู้เรื่องต่างๆ เกี่ยวกับตัวเราเอง รู้เรื่องพ่อ แม่ พี่ น้องในบ้านของเรา รู้เรื่องเพื่อนบ้านของเรา รู้เรื่องโรงเรียนของเรา และต้องรู้จักหลายอย่างที่อยู่รอบตัวเรา เช่น ต้นไม้ ดอกไม้ หญ้า สัตว์เลี้ยง สัตว์ที่เห็นอยู่ในบริเวณบ้าน และบริเวณใกล้เคียงบ้าน พระอาทิตย์ พระจันทร์ ดาว เมฆ ฝน ถนนหนทาง รถชนิดต่างๆ ที่เราเห็นบนถนน และที่เราใช้อยู่ทุกวัน เหล่านี้เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีวิชาความรู้ต่างๆ ที่จำเป็นต้องเรียน เช่น การอ่านออกเขียนได้ ทำเลขได้ รู้ว่า ทำไมฝนจึงตก วิชาเหล่านี้ ทำให้เข้าใจเรื่องต่างๆ ได้มากขึ้น เฉลียวฉลาด คิดได้คล่อง ทำงานเป็น จิตใจกระปรี้กระเปร่า คบหาสมาคมกับเพื่อนฝูงได้ดี |
เราจะเรียนรู้เรื่องต่างๆ ได้โดยการสังเกต รู้จักพิจารณาดู สิ่งต่างๆอย่างถี่ถ้วน ไต่ถามผู้ใหญ่ ซึ่งมีความรู้มากกว่าเรา จำสิ่งต่างๆ ที่ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง และได้จับต้อง ด้วยตนเอง อย่างไรก็ดี สิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้นั้นมีมากมายนัก ยิ่งเติบโตขึ้น ก็ยิ่งต้องเรียนรู้เรื่องต่างๆ ให้มากขึ้นตามวัย ยากนักที่เราจะเรียนรู้เองทุกอย่าง รัฐบาล ซึ่งมีหน้าที่ดูแลให้เด็กๆ และผู้ใหญ่ ที่เป็นพลเมืองของประเทศ ให้ได้รับการศึกษาเล่าเรียน จึงได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้น สำหรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ ๖ ปี ถึง ๑๖ ปี รัฐบาลจะจัดโรงเรียนให้เข้าเรียน จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ เด็กไทยทุกคนต้องเข้าโรงเรียน และเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ เป็นอย่างน้อย นอกจากโรงเรียนในระดับประถมศึกษาแล้ว ยังมีโรงเรียน และสถานศึกษาในระดับสูงขึ้นไปอีก คือ โรงเรียนมัธยมศึกษา วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย การ ศึกษาในระดับสูงไม่เป็นการบังคับ ผู้ประสงค์จะศึกษาต่อ ย่อมศึกษาได้ ตามความสามารถของตน |
การศึกษาในระบบโรงเรียนต้องเสียค่าใช้จ่าย และต้องใช้เวลามาก ผู้ที่ประสงค์จะเล่าเรียนต่อบางคน แม้จะมีสติปัญญาดี ก็ขาดแคลนทุนทรัพย์ และต้องใช้เวลา เพื่อประกอบอาชีพ ไม่อาจเข้าศึกษาได้ แต่เด็กและเยาวชนเหล่านี้ ก็ไม่ไร้โอกาส โดยสิ้นเชิงทีเดียว รัฐบาลจะจัดทุนศึกษาเล่าเรียนให้บางส่วน นอกจากรัฐบาลแล้ว เอกชน และองค์กรที่มิใช่หน่วยงานของรัฐบาล จะอุทิศเงินให้เป็นทุนการศึกษา นอกจากจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนแล้ว รัฐบาล และหน่วยงานภาคเอกชน ยังได้จัดการศึกษานอกระบบโรงเรียน สอนในเวลาไม่นานนัก ใช้วิธีต่างๆ ให้ผู้ต้องการเรียน ได้เล่าเรียนในเวลาที่ว่าง จากการประกอบอาชีพ เช่น สอนในตอนเย็น ตอนค่ำ วันเสาร์ และวันอาทิตย์ จัดการสอนทางวิทยุกระจายเสียง และโทรทัศน์ ส่งบทเรียนไปทางไปรษณีย์ สำหรับผู้ที่อยู่ห่างไกลมากๆ จากสถานศึกษา ผู้ซึ่งประสงค์จะเล่าเรียนต่อ ก็จะเรียนได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดไป |
แหล่งให้ความรู้แก่ทุกคนอีกแหล่งหนึ่ง คือ ห้องสมุด ในโรงเรียนจะมีห้องสมุดของโรงเรียน ในชุมชน มีที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน ในอำเภอ และจังหวัดมีห้องสมุดประชาชน ผู้ประสงค์จะแสวงหาความรู้จะไปยืมหนังสือมาอ่านได้ ในห้องสมุดจะมีบรรณารักษ์ ซึ่งจะช่วยแนะนำการอ่านหนังสือด้วย นอกจากนี้ ในห้องสมุดจะมีหนังสือสารานุกรม ซึ่งเป็นหนังสือรวมความรู้ต่างๆ สารานุกรมสำหรับเด็กและเยาวชนจะมีภาพประกอบสวยงาม น่าอ่าน |