เล่มที่ 34 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
โรคฉี่หนู
เล่นเสียงเล่มที่ 34 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ โรคฉี่หนู
สามารถแชร์ได้ผ่าน :


            พวกเราคงเคยได้ยินคำว่า “ฉี่” ซึ่งหมายถึง “ปัสสาวะ” กันมาแล้ว ต่อไปนี้จะให้เด็กๆ ได้รู้จักโรค ซึ่งอาจติดต่อจากสัตว์สู่คน ที่ขึ้นต้นว่า ฉี่ คือ “โรคฉี่หนู”

            โรคนี้ได้ชื่อว่า “ฉี่หนู” เพราะส่วนมากคนเป็นโรคนี้จากการได้รับเชื้อก่อโรคที่ปนเปื้อนมากับปัสสาวะของหนู ที่ผสมอยู่ในน้ำ เช่น ชาวนาที่แช่น้ำในนาข้าว ชาวบ้านที่จับปลา คนที่อยู่ในบริเวณที่น้ำท่วม ทั้งในเมืองและนอกเมือง


            สาเหตุที่น้ำมีปัสสาวะหนูซึ่งมีเชื้อก่อโรค ส่วนใหญ่เกิดจากน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ทำให้ชะล้างปัสสาวะหนู ซึ่งคั่งค้างอยู่ตามที่ต่างๆ ปะปนมากับน้ำด้วย

            เด็กๆ น่าจะทายถูกว่าโรค “ฉี่หนู” นี้ เป็นกันมากในฤดูฝน ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคมของทุกปี เพราะมีฝนตกมาก มีโอกาสที่น้ำจะท่วมตามที่ต่างๆ ได้มากกว่าเดือนอื่น

            ความจริงแล้วโรคฉี่หนูไม่ได้เกิดจากหนูเพียงอย่างเดียว สัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคนี้ที่สำคัญคือ สัตว์กัดแทะ เช่น กระรอก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เช่น แมว สุนัข วัว ควาย แพะ สุกร กวาง รวมมากกว่า ๑๖๐ ชนิด

            เมื่อคนได้รับเชื้อโรคฉี่หนู จะมีอาการต่างๆ กัน บางคนไม่แสดงอาการอะไร บางคนมีไข้และอาการอื่นๆ ที่โรคหลายๆ โรค ก็มีอาการเหล่านี้ เช่น ปวดศีรษะ ปวดตามเนื้อตามตัว ตาแดง ปวดท้อง บางคนมีอาการรุนแรงมาก หากรักษาไม่ถูกวิธี อาจเสียชีวิตได้ ดังนั้น จึงควรป้องกันไม่ให้ได้รับเชื้อโรคฉี่หนูนี้จากสิ่งแวดล้อม เช่น เด็กๆ ไม่ควรเล่นกับสุนัขและแมว ที่มีเชื้อโรคนี้ เพราะอาจถูกกัด หรือไม่ลงเล่นน้ำหรือว่ายน้ำในแหล่งน้ำ เช่น คลอง ทะเลสาบ ที่อาจมีเชื้อ และไม่เดินเท้าเปล่าบนดินหรือดินโคลน หลังน้ำท่วม

            สำหรับผู้ที่มีอาชีพซึ่งจำเป็นต้องแช่น้ำที่อาจมีเชื้อโรคนี้ เช่น ชาวนา ควรสวมรองเท้าบูตขณะดำนา ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ ควรสวมถุงมือยาง เมื่อต้องสัมผัสสัตว์ที่อาจมีเชื้อโรคนี้ เช่น ขณะรีดนม หรือทำคลอดให้สัตว์ นอกจากสวมถุงมือแล้ว ควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด สวมแว่นตา ป้องกันของเหลวต่างๆ ไม่ให้เปื้อนร่างกาย โดยเฉพาะเยื่อบุอวัยวะต่างๆ เช่น ปาก จมูก ตา ผิวหนังที่เป็นแผล