
เด็กเกือบทุกคนคงเคยฟังเพลง บางคนก็ชอบร้องเพลง เพลงในปัจจุบันมีหลายประเภท เช่น เพลงสตริง เพลงสากล เพลงลูกทุ่ง แต่คงมีเด็กเพียงบางคนเท่านั้น ที่เคยได้ยินได้ฟังเพลงประเภทหนึ่งที่ขับร้องกันในกลุ่มชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น เพลงประเภทนี้ เรียกว่า เพลงพื้นบ้าน

เพลงพื้นบ้าน คือ เพลงของชาวบ้านที่จดจำสืบทอดกันมาแบบปากเปล่า ใช้ร้องเล่นเพื่อความสนุกสนานรื่นเริง โดยใช้คำที่ง่ายๆ เน้นเสียงสัมผัสและจังหวะการร้องเป็นสำคัญ เพลงพื้นบ้านมีลักษณะเฉพาะ คือเป็นเพลงที่ชาวบ้านอาศัยการฟังและจำ ไม่มีการจดเป็นตัวหนังสือ เนื้อร้องใช้คำง่ายๆ ใช้การปรบมือหรือใช้เครื่องประกอบจังหวะง่ายๆ ที่สำคัญต้องมีเสียงร้องรับของลูกคู่ ทำให้เกิดความสนุกสนานมากขึ้น

จากประวัติของเพลงพื้นบ้าน พบหลักฐานว่า เพลงเรือ และเพลงเทพทอง มีการเล่นมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยธนบุรี ส่วนในสมัยรัตนโกสินทร์มีเพลงอื่นๆ อีก เช่น เพลงเกี่ยวข้าว เพลงปรบไก่ เพลงสักวา ต่อมา ในรัชกาลที่ ๗ เพลงพื้นบ้านก็ยังเป็นที่นิยมร้องทั่วไป จนเมื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลควบคุมการเล่นเพลงพื้นบ้าน และสนับสนุนการรำวง ทำให้ชาวบ้านร้องเพลงพื้นบ้านน้อยลงไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ยุคนั้น

ประเภทของเพลงพื้นบ้าน ในที่นี้แบ่งตามเขตพื้นที่เป็น ๔ ภาค ดังนี้
๑. เพลงพื้นบ้านภาคกลาง
ส่วนใหญ่เป็นเพลงที่หนุ่มสาวใช้ร้องโต้ตอบกัน มีคนร้องนำเพลงฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ส่วนคนอื่นๆ เป็นลูกคู่ร้องรับ ให้จังหวะด้วยการปรบมือ เช่น เพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเต้นกำ เพลงพวงมาลัย เพลงระบำ เพลงเหย่อย เพลงแห่นาค เพลงลำตัด เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงขอทาน เพลงสำหรับเด็ก
๒. เพลงพื้นบ้านภาคเหนือ
ผูกพันอยู่กับชีวิตของชาวบ้านตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ เพลงที่ยังร้องเล่นอยู่ในหลายจังหวัดมี ๓ ประเภท ประเภทแรก คือ เพลงสำหรับเด็ก มีเพลงกล่อมเด็ก และเพลงร้องเล่น ประเภทที่ ๒ คือ จ๊อย เป็นเพลงที่ชายหนุ่มใช้ร้องเกี้ยวสาวในตอนกลางคืน และประเภทที่ ๓ คือ ซอ เป็นเพลงที่ชายและหญิงร้องโต้ตอบกัน หรือร้องเป็นเรื่องนิทาน
๓. เพลงพื้นบ้านภาคอีสาน
แบ่งตามกลุ่มวัฒนธรรมออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มแรกเป็น เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาว ร้องเพลงหมอลำ และลำเซิ้ง กลุ่มที่ ๒ เป็น เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมเขมร-ส่วย ร้องเพลงเจรียง เป็นภาษาเขมร และกลุ่มที่ ๓ เป็นเพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมไทยโคราช ร้องเพลงโคราช
๔. เพลงพื้นบ้านภาคใต้
มีจำนวนไม่มากนัก แต่หลายเพลงรักษาการร้องดั้งเดิมไว้ได้อย่างดี เช่น เพลงเรือ เล่นในงานชักพระหรือแห่พระ ชายและหญิงร้องโต้ตอบกันในเรือ เกี้ยวหรือหยอกเย้ากัน และยกเรื่องราวในชีวิตประจำวันมาร้อง เพลงบอก เป็นเพลงที่เล่นในเทศกาลสงกรานต์ เดินไปร้องตามบ้านเพื่ออวยพรปีใหม่และยกย่องเจ้าของบ้าน เพลงร้องเรือ หรือเพลงชาน้อง เป็นเพลงกล่อมเด็กให้นอน เนื้อเพลงร้องขึ้นต้นว่า "ฮาเอ้อ" และลงท้ายวรรคแรกว่า "เหอ" นอกจากเป็นการขับกล่อมให้เด็กนอนหลับอย่างมีความสุขแล้ว ยังแทรกคำสอนให้เด็กเป็นคนดีด้วย