เล่มที่ 40 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
ไข้ออกผื่น
เล่นเสียงเล่มที่ 40 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ไข้ออกผื่น
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            เด็กๆ คงเคยเป็นผดผื่นคัน หรืออาจจะเคยเห็นพี่หรือน้องมีอาการเหล่านี้บ้าง สาเหตุเพราะอากาศร้อนและอบอ้าว พอลูบด้วยน้ำเย็น ทาแป้ง ไม่นานผดผื่นคันเหล่านั้นก็จะหายไปได้

            ผื่นบางชนิดเป็นอาการของโรคที่ทางการแพทย์เรียกว่า ไข้ออกผื่น ผื่นจะปรากฏขึ้นตามร่างกาย พร้อมหรือหลังอาการไข้ และไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีใช้น้ำลูบหรือทาแป้ง จะต้องมีการดูแลรักษาที่ถูกต้อง มิฉะนั้น อาจมีอาการอื่นแทรกซ้อน เป็นอันตรายได้


            ไข้ออกผื่นนี้เป็นความเจ็บป่วยที่พบได้บ่อยในกลุ่มเด็ก อาการหลักคือ มีไข้ และมีผื่นขึ้น บางครั้งอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ซึม เบื่ออาหาร อุจจาระร่วง อาเจียน ไอ และมีน้ำมูก บางคนมีอาการไม่มาก แต่บางคนอาการรุนแรง และเกิดภาวะแทรกซ้อน จนอาจถึงแก่ชีวิตได้


            ไข้ออกผื่นส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อโรค ชนิดที่เรียกว่า เชื้อไวรัส ซึ่งมักติดต่อกัน โดยสัมผัสละอองฝอยของน้ำมูก น้ำลาย ที่ผู้ป่วยไอหรือจาม หรืออาจเกิดจากการไปสัมผัสสิ่งของ หรือมือที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วย โดยทั่วไป โรคไข้ออกผื่นมักไม่รุนแรงและหายได้เอง โรคไข้ออกผื่นอาจเกิดจากการแพ้า หรือภาวะโรคที่มิใช่โรคติดเชื้อก็ได้

            สิ่งที่ผู้ดูแลเด็กควรบอกเด็กและดูแลไม่ให้เด็กแกะเกาผื่นคัน ปิดปาก เมื่อไอ หรือจาม และล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ

            ผื่นที่แสดงลักษณะจำเพาะอาจช่วยบอกได้ว่า น่าจะเกิดจากโรคหรือติดเชื้ออะไร เช่น

            ผื่นที่เป็นตุ่มน้ำใสกระจายทั่วตัว อาจบอกได้ว่าเป็น โรคอีสุกอีใส

            ผื่นที่กระจายจากใบหน้า แล้วลงมาตามตัว แขนและขา พร้อมกับมีไข้สูง ตาแดง อาจบอกได้ว่าเป็น โรคหัด

            ผื่นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และมีแผลร้อนในภายในปาก อาจบอกได้ว่าเป็น โรคมือ เท้า ปาก

            ผื่นที่สากเหมือนกระดาษทราย พร้อมๆ กับอาการเจ็บคอ อาจบอกได้ว่าเป็น โรคอีดำอีแดง

            ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจปรากฏผื่นที่บอกไม่ได้แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร เช่น จุดแดงทั่วๆ ไป อาจมีอาการคัน หรือผื่นลมพิษ ซึ่งมีลักษณะนูน แดง และคัน ซึ่งอาจเกิดจากแพ้ยา แพ้อาหาร หรือเกิดจากโรคติดเชื้อก็ได้ จึงต้องได้รับการตรวจอย่างละเอียด จากแพทย์ ซึ่งจะช่วยให้รักษาได้อย่างถูกต้อง

            ไข้ออกผื่นที่เป็นกันมากและระบาดไปทั่วในอดีตคือ ไข้ทรพิษหรือฝีดาษ ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ต่อมา ได้มีการค้นพบ วัคซีนสำหรับปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ และมีการกวาดล้างจนโรคชนิดนี้หมดไป องค์การอนามัยโลกได้ประกาศการกวาดล้างไข้ทรพิษสำเร็จ ใน พ.ศ. ๒๕๒๒


            ไข้ออกผื่นที่เป็นกันมากรองลงมาคือ โรคหัด ก่อนจะมีวัคซีน เด็กๆ ป่วยด้วยโรคนี้มาก แต่หลังจากได้มีการพัฒนาวัคซีน และนำมาฉีดให้เด็ก ทำให้มีเด็กที่เป็นโรคนี้น้อยลง และเมื่อเป็นแล้วจะไม่เป็นอีก
            
            ไข้ออกผื่นอีกชนิดหนึ่งคือ อีสุกอีใส ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันแล้ว แต่ยังไม่แพร่หลาย 

            การใช้วัคซีนป้องกันโรคไข้ออกผื่น เป็นผลให้โรคไข้ออกผื่นในปัจจุบันลดน้อยลงไปมาก ซึ่งจะพบในเด็กเล็กมากกว่าเด็กโต หรือผู้ใหญ่

            การรักษาโรคไข้ออกผื่นจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของโรค เมื่อแพทย์สืบค้นได้แล้วว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ก็จะรักษาไปตามอาการ ซึ่งจะหายภายในเร็ววัน ยกเว้นผู้ป่วยที่มีอาการมาก มีผื่นที่รุนแรง กินไม่ได้ มีไข้สูง ซึม รวมทั้งมีผื่น ที่ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุ เช่น ตาแดง ปากเจ็บ ควรเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล