เล่มที่ 40 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
การโคลนนิ่งสัตว์
เล่นเสียงเล่มที่ 40 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ การโคลนนิ่งสัตว์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            ถ้าถามว่า แกะตัวไหนที่มีผู้คนรู้จักมากที่สุดในโลก แกะตัวนั้นก็คงจะไม่พ้น "ดอลลี่" ซึ่งเป็นแกะในชนบทของสหราชอาณาจักร สัญชาติสกอตแลนด์ ดอลลี่ไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดัง เพราะว่ามีรูปร่างหน้าตาดีกว่าแกะตัวอื่นๆ แต่ดอลลี่มีชื่อเสียง เพราะเป็นแกะ ที่เกิดจากการโคลนนิ่งได้เป็นตัวแรกของโลก

            การโคลนนิ่ง คือ การที่นักวิทยาศาสตร์ได้อาศัยความรู้ และวิธีการสมัยใหม่ ในการขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ได้สำเร็จในห้องปฏิบัติการ โดยที่ไม่ต้องใช้การผสมกันระหว่างไข่ของแม่กับเชื้ออสุจิของพ่อ ซึ่งเป็นกระบวนการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศตามปกติ 


            "ดอลลี่" แกะโคลนนิ่ง ถือเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของวงการวิทยาศาสตร์ ที่นักวิทยาศาสตร์สามารถสร้างลูกแกะขึ้นมา ให้มีหน้าตาเหมือนกับแม่ต้นแบบ โดยไม่ต้องมีการผสมกันระหว่างไข่ของแม่แกะ กับเชื้ออสุจิของพ่อแกะเหมือนเช่นลูกแกะตัวอื่นๆ และที่น่าประหลาดใจก็คือ ดอลลี่นั้นไม่มีพ่อ แต่กลับมีแม่ถึง ๓ ตัว

            แม่ตัวที่ ๑ เป็นผู้ให้เซลล์เนื้อเยื่อร่างกายบริเวณต่อมน้ำนม เพื่อนำไปผสมรวมกับไข่ของแม่ตัวที่ ๒ จากนั้นไข่ที่ผสมแล้ว ถูกนำไปเลี้ยงต่อในหลอดแก้วจนเป็นตัวอ่อน ก่อนที่จะนำตัวอ่อนไปฝากให้แม่ตัวที่ ๓ เป็นตัวรับฝากตัวอ่อนจากหลอดแก้ว ไปตั้งท้อง จนเกิดดอลลี่ออกมา ดอลลี่จึงเกิดมาอย่างน่าอัศจรรย์ โดยไม่ต้องมีพ่อ


            จากความสำเร็จในการโคลนนิ่งแกะดอลลี่ขึ้นมา ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้นำเอาวิธีการนี้ไปใช้โคลนนิ่งสัตว์อีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัข แมว หรือหนูถีบจักร ไปจนถึงสัตว์ใหญ่ที่เลี้ยงไว้บริโภคเนื้อเป็นอาหารอย่างสุกรหรือโค


            ประเทศไทยมีนักวิทยาศาสตร์ที่สามารถโคลนนิ่งสัตว์ได้เช่นกัน โดยได้สร้างลูกโคโคลนนิ่งจำนวนหลายตัว จากโคสายพันธุ์ต่างประเทศ ตัวแรกชื่อว่า "อิง"เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓ สัตว์โคลนนิ่งที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย คือ "ตูมตาม" ลูกโคโคลนนิ่งพันธุ์บราห์มันเทาเพศผู้ ซึ่งเกิดมาปลาย พ.ศ. ๒๕๔๖ ถึงต้น พ.ศ. ๒๕๔๗ มีการนำเซลล์ผิวหนังใบหูของตูมตาม ไปทำโคลนนิ่งได้ลูกออกมา ๗ ตัว ในอนาคตข้างหน้า นักวิทยาศาสตร์ยังคาดหวังที่จะนำความรู้จากการโคลนนิ่งสัตว์นี้ ไปใช้ในการรักษาคนไข้ การอนุรักษ์และขยายพันธุ์สัตว์ที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ เช่น กระทิง หมีแพนด้า เสือ