หุ่นยนต์ คือ “หุ่นที่มีเครื่องกลไกอยู่ภายใน สามารถเคลื่อนไหว และทำงานหลายอย่าง แทนมนุษย์ได้” หุ่นยนต์แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ
๑) หุ่นยนต์ชนิดติดตั้งอยู่กับที่
๒) หุ่นยนต์ชนิดเคลื่อนที่ได้
หุ่นยนต์ชนิดติดตั้งอยู่กับที่
นิยมใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น โรงงานประกอบรถยนต์ ใช้หุ่นยนต์ประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ โรงงานอาหารสำเร็จรูป ใช้หุ่นยนต์บรรจุกระป๋องอาหารหรือกระป๋องเครื่องดื่มลงในหีบห่อ หุ่นยนต์ชนิดนี้มีแขนเดียว ปลายแขนเป็นเครื่องจับ ที่มีลักษณะเหมือนมือ สำหรับหยิบจับชิ้นส่วน
หุ่นยนต์ชนิดเคลื่อนที่ได้
อาจเคลื่อนที่ไปได้ด้วยตัวเอง โดยใช้ล้อ ขา และเท้า หุ่นยนต์ชนิดเคลื่อนที่ได้มีมากมายหลายแบบ ชนิดที่นิยมสร้างกันมากในปัจจุบัน ได้แก่ หุ่นยนต์ ๒ ขา ที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์
หุ่นยนต์ตัวแรกในประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๙๗ มีชื่อว่า หุ่นยนต์คุณหมอพระราชทาน สร้างโดยวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ) ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
หุ่นยนต์คุณหมอพระราชทาน เป็นหุ่นยนต์ ๒ ขา มีรูปร่างคล้ายคน ขนาดเท่าคนจริง แต่งกายแบบหมอ สามารถเดิน ยกมือไหว้ พูด ฟัง โต้ตอบ และทำงานได้อีกหลายอย่าง จึงนับได้ว่า หุ่นยนต์คุณหมอพระราชทานเป็นความสำเร็จ และความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของคนไทยทุกคน
ปัจจุบันพัฒนาการของหุ่นยนต์ในประเทศไทยเป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีทั้งการวิจัยด้านการออกแบบ และการควบคุมหุ่นยนต์ชนิดเคลื่อนที่ได้ และหุ่นยนต์อุตสาหกรรม เช่น หุ่นยนต์บิน หุ่นยนต์เดิน ๒ ขาคล้ายมนุษย์ หุ่นยนต์สำรวจใต้น้ำ และหุ่นยนต์อื่นๆ ทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวสู่การแข่งขันเกี่ยวกับหุ่นยนต์ได้เท่าเทียมประเทศอื่นในโลก