เกวียนเป็นพาหนะทางบกที่สำคัญในอดีต ช่วยทุ่นแรงคนในการเดินทางและการบรรทุกขนส่ง เกวียนจึงเป็นเสมือนพาหนะคู่ใจของชาวนาไทย ที่ทุกครอบครัวจำเป็นต้องมีเป็นของตนเอง
เกวียนแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท โดยเรียกตามแรงงานสัตว์ ที่ใช้เทียมลาก คือ เกวียนวัว และเกวียนควาย เนื่องจาก วัวตัวเล็กกว่าควาย และมีแรงน้อยกว่าควาย เกวียนวัวจึงมีขนาดเล็กกว่าเกวียนควาย ทำให้คล่องตัว และเหมาะกับภูมิประเทศที่เป็นที่ดอนสูง ป่าดง มีหล่มโคลนน้อย ส่วนเกวียนควายมีขนาดใหญ่ จึงเหมาะกับภูมิประเทศ ที่เป็นที่ราบลุ่ม มีหล่มโคลนมาก เพราะวงล้อใหญ่ และควายมีแรงลากมากกว่าวัว
ส่วนคำที่ใช้เรียกเกวียน บางแห่งเรียกว่า ระแทะ ซึ่งมาจากคำว่า ระแตะ หรือรอเตะฮฺ ในภาษาเขมร ทางภาคอีสาน และประเทศลาว ออกเสียงว่า เกียน และสาลี่ ภาคเหนือในอดีตเคยเรียกว่า ล้อเฮือน หรือเฮือนล้อ ซึ่งหมายถึง เรือนที่มีล้อ บางทีก็เรียกว่า ล้องัว ต่อมาภายหลังเรียกว่า เกวี๋ยน หรือล้อ
สำหรับไม้ที่ใช้ทำเกวียนจำเป็นต้องใช้ไม้เนื้อแข็ง ทั้งในส่วนที่เป็นโครงสร้างและส่วนประกอบของเกวียน เพราะต้องใช้บรรทุกสิ่งของและเดินทางไกล ซึ่งต้องรับน้ำหนักมาก ตลอดจนรับแรงกระแทกและแรงเสียดสีตลอดเวลา ที่ใช้งานทุกครั้ง
ช่างเกวียนมีการสร้างสรรค์ความงามเสริมคุณค่าให้แก่เกวียนด้วยการต่อเติมชิ้นส่วนต่างๆ ของตัวเรือนเกวียน ให้มีรูปร่างอ่อนช้อยมากกว่าปกติ ช่างเกวียนบางท้องถิ่นมีการตกแต่งเพิ่มเติมให้เกวียนดูสวยงามยิ่งขึ้น ด้วยการติดกระจกสีฝังลงในเนื้อไม้ บางแห่งก็ใช้วิธีการเขียนภาพและระบายสีลงบนแผ่นไม้รอบตัวเรือนเกวียน หรือใช้วิธีการแกะสลักลวดลายลงบนเนื้อไม้แต่ละส่วนอย่างประณีตสวยงาม
เมื่อต้องใช้วัวหรือควายเทียมลากเกวียน จึงจำเป็นต้องฝึกวัวและควายให้เป็นงานเทียมเกวียนก่อน ซึ่งโดยปกติเริ่มฝึก เมื่อมีอายุ ๓-๔ ปี สำหรับวัวเทียมจะใช้เฉพาะวัวเพศผู้ที่ตอนแล้วเท่านั้น เพราะแข็งแรงกว่าวัวเพศเมีย ส่วนควายเทียมใช้ได้ทั้งเพศผู้และเพศเมีย ในการฝึกวัวและควายเทียมเกวียน หากเริ่มฝึกอยู่ข้างไหนของแอกเกวียน ก็ต้องใช้งานข้างนั้นตลอดไป เพราะถนัดคุ้นเคยกับแอกข้างนั้น และคุ้นกับการใช้สัญญาณบังคับจากคนขับ ให้เดินตรงไปข้างหน้า เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา หรือสั่งให้หยุด-จอด
การที่สังคมชนบทเป็นสังคมเกษตรกรรม ที่มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ผูกพันใกล้ชิดกับเกวียนมาอย่างยาวนาน จึงมักพบเรื่องราวเกี่ยวกับเกวียนแทรกอยู่ในวิถีชีวิตและในสังคม ทั้งในนิทาน ตำนาน ประวัติศาสตร์ คำพังเพย และผญาภาษิต ตลอดจนการละเล่นของเด็ก ที่เรียกว่า โค้งตีนเกวียน หรือ ระวงตีนเกวียน
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงในด้านการปฏิรูปการปกครอง และเริ่มมีสาธารณูปโภค โดยการสร้างทางรถไฟ จนมาถึงในสมัยที่ใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ จึงสร้างเส้นทางถนนสำหรับรถยนต์ ซึ่งสะดวกรวดเร็วกว่าเกวียน ทำให้การใช้เกวียนลดน้อยลงไปเรื่อยๆ จนต้องนำไปเก็บไว้ใต้ถุนบ้านเรือนเสมือนเป็นเกวียนร้าง เพราะไม่ได้ใช้งาน และไม่มีการดูแลรักษา เมื่อไม่มีคนสั่งทำเกวียน กลุ่มช่างเกวียนจึงไม่ได้สืบทอดภูมิปัญญาแขนงนี้
เกวียนที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว จะถูกซื้อขายด้วยวัตถุประสงค์ใหม่คือ เพื่อการอนุรักษ์ โดยถอดชิ้นส่วนต่างๆ ทำเป็นสิ่งประดับตกแต่งบ้าน หรือนำไปประกอบใหม่เป็นเครื่องใช้เครื่องเรือนแบบใหม่