เล่มที่ 36 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
ทองคำ
เล่นเสียงเล่มที่ 36 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ทองคำ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            เมื่อกล่าวถึง “ทองคำ” หรือเรียกกันว่าสั้นๆ ว่า “ทอง” ทุกคนมักนึกถึงโลหะที่มีค่ามากชนิดหนึ่ง มีสีเหลืองอร่าม มีประกายแวววาว ไม่หมอง หรือเป็นสนิม เมื่อเก็บไว้นานๆ ทนทานต่อการสึกกร่อน และนำมาแปรรูป เพื่อใช้ประโยชน์ต่างๆ ตามที่ต้องการ นิยมนำมาประดิษฐ์เป็นเครื่องประดับตกแต่งร่างกาย เช่น สร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวน กำไล นอกจากนี้ ยังนำไปหล่อเป็นพระพุทธรูป หรือเป็นชิ้นส่วนของสิ่งประดิษฐ์ และเครื่องใช้ต่างๆ เช่น ปากกา นาฬิกาข้อมือ กรอบแว่นตา หัวเข็มขัด


            ในสมัยโบราณ เมื่อยังไม่มีการใช้ธนบัตร มีการนำทองคำมาทำเป็นเงินตรา ซึ่งมีราคาสูงกว่าเงินเหรียญ ที่ทำด้วยโลหะชนิดอื่นๆ เช่น เงิน ทองแดง ดีบุก นิกเกิล แต่หลังจากมีการใช้ธนบัตรแล้ว การใช้ทองคำเป็นเงินตรา ก็ยังคงมีอยู่ในบางประเทศ หรือใช้เป็นสิ่งที่ระลึกถึงบุคคล หรือเหตุการณ์สำคัญในบางโอกาส เช่น เหรียญที่ระลึก แต่คนมักนิยมเก็บสะสมไว้เป็นสมบัติส่วนตัวไม่นำมาใช้

            ทองคำที่คนนิยมสะสมแบ่งออกเป็น ๒ ชนิดใหญ่ๆ คือ ทองรูปพรรณ เป็นการนำทองคำมาประดิษฐ์เป็นเครื่องประดับ และสิ่งของเครื่องใช้ที่มีราคาแพง เช่น สร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวน กำไล กระดุมเสื้อ เข็มกลัด กรอบรูป และทองแท่ง เป็นการนำทองคำมาหลอมเป็นแท่งสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีน้ำหนักมากหรือน้อยตามต้องการ ไม่ได้นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน แต่เก็บสะสมไว้เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง เพื่อแสดงถึงฐานะทางเศรษฐกิจของผู้เป็นเจ้าของ


            ทองคำทั้ง ๒ ชนิดมีการซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราได้ ในราคาที่กำหนดไว้ค่อนข้างแน่นอนของแต่ละวัน ตามปกติราคาของทองรูปพรรณจะสูงกว่าราคาของทองแท่งเล็กน้อย เพราะการนำทองแท่งมาประดิษฐ์เป็นทองรูปพรรณชนิดต่างๆ จะมีค่าจ้างในการประดิษฐ์เรียกว่า “ค่ากำเหน็จ”


            การเกิดของแร่ทองคำมีอยู่ ๒ แบบ คือ แบบปฐมภูมิ เกิดจากการสะสมตัวของแร่ทองคำอยู่ในหินชนิดต่างๆ และแบบทุติยภูมิ หรือแบบลานแร่ เกิดจากการผุพังของหินที่มีแร่ทองคำสะสมอยู่ โดยอาจสะสมตัวอยู่ในที่เดิม หรืออาจถูกน้ำพัดพาไปสะสมตัวอยู่ตามเชิงเขา หรือลำน้ำในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งต้องสำรวจแหล่งแร่ แล้วทำเหมืองขุดเจาะนำแร่ทองคำนั้น มาเข้าสู่กระบวนการแต่งแร่ให้ได้ทองคำบริสุทธิ์ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ต่อไป


            ปัจจุบันมีเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทยเปิดดำเนินการอยู่ ๒ เหมือง คือ แหล่งแร่ทองคำชาตรี ของบริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตรอยต่อของอำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร และอำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ และแหล่งแร่ทองคำภูทับฟ้าของบริษัททุ่งคำ จำกัด อยู่ที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย