ละครชาตรี เป็นละครรำของไทยประเภทหนึ่ง ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างโนราของภาคใต้กับละครนอกของภาคกลาง ละครชาตรีรับจ้างแสดงแก้บนที่บ้าน วัด หรือเทวสถานที่ผู้คนนับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ การแสดงมี ๒ แบบ คือ แบบรำเป็นระบำชุดสั้นๆ และแบบละคร การแสดงละครชาตรีแบ่งเป็น ๓ ส่วน ส่วนที่ ๑ พิธีกรรม เริ่มประมาณเก้าโมงเช้า เป็นพิธีทำโรง บูชาครู โหมโรง ร้องเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้มาปกป้องคุ้มครองการแสดง รำถวายมือ ซึ่งก็คือ การรำเชิญเครื่องสังเวยให้เทวดามารับสินบน ประกาศโรง และรำซัดชาตรี ส่วนที่ ๒ การแสดงละคร ต่อจากพิธีกรรมในภาคเช้า จบด้วยพิธีลาเครื่องสังเวย แล้วพักเที่ยง จากนั้นแสดงละครต่อไปจนถึงเวลาประมาณสี่โมงเย็น จึงปิดการแสดง และ ส่วนที่ ๓ พิธีลาโรง
ละครชาตรี ใช้ผู้หญิงแสดงเป็นตัวเอก ผู้ชายแสดงเป็นตัวตลก และตัวเบ็ดเตล็ด แต่งกายแบบละครนอก ร้องรำไปตามคำกลอนของคนบอกบท และตามทำนองเพลงของวงปี่พาทย์ชาตรีที่ประกอบด้วย ปี่ ระนาด ตะโพน โทนชาตรีคู่ กลองตุ๊ก กรับไม้ไผ่ ฉิ่ง ฉาบ และมีลูกคู่ร้องรับ ปัจจุบัน หาดูละครชาตรีแก้บนได้ที่ศาลหลักเมือง และศาลพระพรหมเอราวัณ กรุงเทพฯ วัดโสธรวรารามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี กรมศิลปากรได้ปรับปรุงละครชาตรีขึ้นใหม่ให้ยิ่งใหญ่และงดงาม โดยตัดส่วนของพิธีกรรมออก เหลือไว้เฉพาะที่จะแสดงบนเวที ให้ประชาชนดูเท่านั้น