เล่มที่ 36 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
แอนิเมชัน
เล่นเสียงเล่มที่ 36 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ แอนิเมชัน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            เด็กๆ รู้บ้างไหมว่า “แอนิเมชัน” หรือ “การ์ตูน” ที่ดูในโทรทัศน์ทุกวันนี้ มีมาตั้งแต่ยุคหินเลยทีเดียว ด้วยความต้องการที่จะให้ภาพที่วาด สามารถกระโดดโลดเต้นได้เหมือนมีชีวิตจริง  จึงทำให้มนุษย์พยายามคิดค้น เทคนิคใหม่ๆ สำหรับการทำการ์ตูนมาโดยตลอด  จนกระทั่ง สามารถสร้างเป็นภาพยนตร์การ์ตูนได้สำเร็จ เมื่อเกือบร้อยปีก่อนนี้เอง


            แล้วเด็กๆ รู้ไหมว่า กว่าจะเป็นภาพยนตร์การ์ตูนแต่ละเรื่องได้นั้น มีความยุ่งยากมากแค่ไหน โดยเฉพาะในสมัยก่อน ต้องมีคนจำนวนมาก ช่วยกันวาดภาพตัวการ์ตูนนับหมื่นๆ ภาพ จากนั้นจึงนำภาพทั้งหมด มาเรียงต่อๆ กัน แล้วฉายภาพวาดนั้น ด้วยความเร็วที่มากพอ ก็จะหลอกสายตาของพวกเรา ให้มองเห็นภาพวาดเหล่านั้น เคลื่อนไหวไปมา

            เด็กๆ ก็สามารถทำภาพการ์ตูนที่เคลื่อนไหวเองได้ โดยการหาสมุดโทรศัพท์ หรือสมุดเล่มหนาๆ มาวาดการ์ตูนที่มุมกระดาษ ทีละแผ่นๆ เช่น วาดภาพกระต่ายค่อยๆ โผล่ออกมาจากรู เมื่อวาดได้มากพอแล้ว ลองพลิกกระดาษเร็วๆ เด็กๆ ก็จะเห็นกระต่าย เคลื่อนไหวได้เหมือนมีชีวิตจริงๆ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับการทำการ์ตูนแอนิเมชันนั่นเอง