เล่มที่ 31 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
วัดญวนในประเทศไทย
เล่นเสียงเล่มที่ 31 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ วัดญวนในประเทศไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            คำว่า ญวน เป็นคำที่คนไทยในสมัยก่อนใช้เรียกชาวเวียดนาม ซึ่งเป็นชนชาติเพื่อนบ้านของเรา ในประเทศไทยเมื่อราว ๒๐๐ ปี มาแล้ว ชาวญวนอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ไทย ได้ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน และมีวัดที่เรียกว่า วัดญวน

            ชาวญวนนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และมีความคิดความเชื่อ ตลอดจนลัทธิธรรมเนียม ประเพณีทางศาสนา เหมือนอย่างจีน แต่เมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ได้มีการกำหนดระเบียบหลายอย่าง ให้สอดคล้องกับประเพณีการปฏิบัติ ทางศาสนาของไทย เช่น มีประเพณีการบวช การเข้าพรรษา การทอดกฐิน การทอดผ้าป่าการสรงน้ำพระพุทธรูปเหมือนอย่างไทย พระสงฆ์ญวนมีการบิณฑบาต การทำวัตรสวดมนต์เช้าเย็น และไม่ฉันอาหารเย็นเช่นเดียวกับพระสงฆ์ไทย แต่สิ่งที่ยังคงดำรงไว้คือ การสวดมนต์เป็นภาษาญวน

            ประเพณีบางอย่างที่ถือปฏิบัติในวัดญวนนั้น เด็กๆ อาจเคยรู้จัก หรือเห็นมาบ้าง เช่น การถือศีลกินเจ เพื่อให้เกิดความสุขความเจริญ การทิ้งกระจาดเพื่อบริจาคทาน และการทำพิธีกงเต๊กเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว

            ปัจจุบัน วัดญวนในประเทศไทยมีหลายแห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด วัดญวนที่สำคัญในกรุงเทพฯ เช่น วัดอุภัยราชบำรุง (วัดญวนตลาดน้อย) วัดสมณานัมบริหาร (วัดญวนสะพานขาว) ส่วนวัดญวนที่สำคัญซึ่งตั้งอยู่ที่ต่างจังหวัด เช่น วัดถาวรวราราม และวัดถ้ำเขาน้อย จังหวัดกาญจนบุรี วัดเขตร์นาบุญญาราม จังหวัดจันทบุรี