เล่มที่ 25 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
โครงข่ายประสาทเทียม
เล่นเสียงเล่มที่ 25 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ โครงข่ายประสาทเทียม
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            เวลาที่เราดูภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับโลกในอนาคต โดยเฉพาะในยุคอวกาศ เรามักจะเห็นคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทเหมือนมนุษย์ มีทั้งเรื่องของคอมพิวเตอร์ที่เป็นหุ่นยนต์ ซึ่งทำงานได้เหมือนมนุษย์ ภาพยนตร์บางเรื่องก็สร้างให้คอมพิวเตอร์ สามารถคิดเองได้เช่นเดียวกับมนุษย์

            แต่ในความเป็นจริง ในปลายศตวรรษที่ ๒๐ คอมพิวเตอร์ ยังไม่มีความสามารถเหนือมนุษย์เหมือนในภาพยนตร์ การเขียนชุดคำสั่งง่ายๆ สามารถสั่งคอมพิวเตอร์ให้คำนวณเลขได้เร็วกว่ามนุษย์ เป็นล้านเท่า แต่การจะเขียนคำสั่งให้คอมพิวเตอร์อ่านหนังสือออก ฟังภาษามนุษย์ได้เข้าใจ พูดคุยกับมนุษย์ได้ และจำหน้ามนุษย์ได้นั้น กลับกลายเป็นเรื่องที่ยากมากๆ ทั้งที่เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ง่ายมาก สำหรับมนุษย์

            ตั้งแต่เริ่มมีคอมพิวเตอร์ นักวิจัยด้านคอมพิวเตอร์ทั่วโลก ก็ได้พยายามทำให้คอมพิวเตอร์สามารถทำงานได้คล้ายมนุษย์ มาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว แนวทางหนึ่งคือ การทำให้คอมพิวเตอร์จำลอง การทำงานของสมองของมนุษย์


            สมองของมนุษย์ประกอบด้วยโครงข่ายประสาท ซึ่งมีเซลล์ประสาทหลายแสนล้านเซลล์ที่สื่อสารกัน และทำงานขนานกันไป การสร้างโครงข่ายประสาทเทียมสำหรับคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่การสร้างชิ้นส่วนของคอมพิวเตอร์นับแสนล้านชิ้น ที่รูปร่างเหมือนเซลล์สมองของมนุษย์ แต่เป็นการสร้างคอมพิวเตอร์ที่จำลองเอาวิธีการทำงานของสมองมาใช้ หรืออาจเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทำให้คอมพิวเตอร์รู้จักคิด และจดจำในแนวเดียวกับโครงข่ายประสาทของมนุษย์



            โครงข่ายประสาทเทียมถูกนำไปใช้ เพื่อช่วยคอมพิวเตอร์ ฟังภาษามนุษย์ได้เข้าใจ อ่านหนังสือออก ฯลฯ แต่คอมพิวเตอร์ที่มีโครงข่ายประสาทเทียม ก็ยังไม่มีความสามารถรอบรู้ จนกว่าจะได้รับการสอน เช่นเดียวกับการสอนเด็กอนุบาลให้รู้จัก ก ไก่ ข ไข่ วิธี การสอนคอมพิวเตอร์ก็คล้ายๆ กับการสอนมนุษย์ ซึ่งมีอยู่ ๒ แบบคือ แบบมีผู้สอน และแบบไม่มีผู้สอน

            การสอนแบบมีผู้สอนนั้น สมมติว่า ถ้าจะสอนให้เด็กรู้จักตุ๊กตา เราอาจจะหยิบตุ๊กตาให้เด็กดู แล้วบอกว่า นี่เรียกว่า ตุ๊กตา เมื่อเด็กเห็นตุ๊กตาแบบต่างๆ หลายๆ ครั้ง เด็กก็จะจำได้ว่า สิ่งของลักษณ นี้เรียกว่า ตุ๊กตา ทำนองเดียวกัน ถ้าเราจะสอนให้คอมพิวเตอร์รู้จักของเล่นแบบต่างๆ เราอาจจะป้อนรูปของเล่นต่างๆ เข้าคอมพิวเตอร์ พร้อมบอกกำกับไปด้วยว่า นี่คือตุ๊กตานะ นี่คือลูกบอลนะ ฯลฯ จน โครงข่ายประสาทเทียมในคอมพิวเตอร์สามารถจดจำลักษณะคล้ายๆ กัน ของของเล่นประเภทเดียวกันได้ เมื่อได้เห็นตุ๊กตาตัวใหม่ที่มีแบบต่างไปจากที่เคยเห็น ก็ยังสามารถบอกได้ว่า นี่คือตุ๊กตา


            การสอนแบบไม่มีผู้สอนนั้น สมมติว่า เราจะให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับของเล่นแบบต่างๆ ด้วยตัวเอง เราก็อาจเอาของเล่นมากองรวมกัน แล้วให้เด็กลองเล่น หลังจากนั้น ให้เด็กเก็บของเล่นแยกออกเป็นกล่องๆ โดยเก็บของเล่นแบบเดียวกัน เข้ากล่องเดียวกัน สำหรับวิธีนี้ ถ้ามีของเล่นมากพอ เด็กก็จะรู้จักแยกของเล่นประเภทต่างๆ ได้เอง เช่นเดียวกัน ถ้าเราจะสอนให้คอมพิวเตอร์รู้จักของเล่นแบบต่างๆ เราอาจจะป้อนวิดีโอของเล่นต่างๆ เข้าคอมพิวเตอร์ โดยไม่บอกรายละเอียด โครงข่ายประสาทเทียมก็จะแยกประเภทของเล่นเอง และทำความเข้าใจว่า ของเล่นแต่ละประเภท มีลักษณะที่เหมือนหรือ ต่างกันอย่างไร


            ปัจจุบัน การสอนให้เด็กรู้จักของเล่นเป็นเรื่องที่ง่ายมาก แต่การสอนให้คอมพิวเตอร์ที่ใช้โครงข่ายประสาทเทียมรู้จักของเล่น ยังเป็นเรื่องที่ยากมาก นักวิจัยในประเทศไทย กำลังทดลองใช้โครงข่ายประสาทเทียม ในการสอนให้คอมพิวเตอร์รู้จักพยัญชนะ และสระไทย เช่น ก ให้คอมพิวเตอร์สามารถจำได้ และบอกได้ว่า นี่คือ ก แม้จะใช้ตัวพิมพ์แบบต่างๆ กัน และไม่เข้าใจผิดว่า ก เป็น ภ หรือ ถ และสอนให้คอมพิวเตอร์ฟังคำต่างๆ แล้วสามารถแยกแยะได้ว่า เป็น คำว่าอะไร เช่น ถ้าได้ยิน "เก้า"  ก็สะกดด้วยเลข ๙ ไม่สะกดผิดเป็น คำที่เสียงคล้ายกันอย่าง "เก่า" หรือ "เกา" และต้องใช้วิธีการสอน อย่างไร คอมพิวเตอร์จึงจะสามารถแยกความหมายของคำที่ออกเสียง เหมือนกัน เช่น "เก้า" กับ "ก้าว" ได้ หรือฟัง "เดินสิบก้าว" แล้ว ไม่สะกดเป็น "เดิน ๑๙" หรือฟัง "๙ บาท" แล้วไม่สะกดเป็น "ก้าวบาท"