เด็กๆ คงเคยเห็นตึกใหม่สูงหลายสิบชั้นมาบ้างแล้ว บางคนอาจนึกสงสัยว่า ตึกใหญ่ที่ทั้งสูงทั้งหนักมากเช่นนั้น ก่อสร้างขึ้นด้วยวัสดุอะไร คำตอบก็คือ คอนกรีต โดยมีเหล็กเป็นโครงอยู่ภายใน เราเรียกคอนกรีตเช่นนี้ว่า คอนกรีตเสริมเหล็ก มีความแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักได้มาก
นอกจากตึกสูงๆ แล้ว เรายังใช้คอนกรีตเสริมเหล็กในการก่อสร้างสะพาน สร้างถนน สร้างอุโมงค์ ทำตอม่อ สร้างเขื่อน และอื่นๆ อีกด้วย
คอนกรีตเป็นวัสดุผสมของหิน ทราย ปูนซีเมนต์ และน้ำ หินเป็นของแข็ง ที่มีอยู่ตามธรรมชาติบนเปลือกโลก หินที่ใช้ ต้องนำมาย่อยให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ ทรายก็เป็นวัสดุที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ในพื้นที่บางแห่ง เช่น ตามก้นแม่น้ำ ส่วนปูนซีเมนต์ต้องผลิตขึ้นในโรงงาน
ปูนซีเมนต์มีชื่อเต็มว่า ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ลักษณะเป็นผงละเอียดสีเทา ใช้เป็นส่วนสำคัญในการทำคอนกรีต เพราะทำหน้าที่เป็นตัวประสาน ที่ช่วยยึดหิน ทราย และเหล็ก ให้ติดแน่นเป็นเนื้อเดียวกัน ถ้าไม่มีปูนซีเมนต์ยึดประสานไว้ หิน ทราย และเหล็ก ก็อาจแตกแยกหลุดออกจากกันได้ง่าย ไม่สามารถคงรูปร่างของสิ่งก่อสร้างดังที่ต้องการ
คุณสมบัติพิเศษของปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ได้แก่ การก่อตัว และแข็งตัวได้ในน้ำ ดังนั้น เมื่อผสมหิน ทราย ปูนซีเมนต์ และน้ำ คลุกเคล้าให้เข้ากันดี แล้วเทลงในแบบที่เตรียมไว้ ทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วแกะแบบออก ก็จะได้คอนกรีตที่มีรูปร่างเหมือนแบบ
การผลิตปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ในโรงงาน เริ่มต้นการบดวัตถุดิบหลายชนิด เช่น แคลเซียมคาร์บอเนต เป็นต้น ให้ละเอียดเป็นผง เรียกว่า วัตถุดิบสำเร็จ แล้วนำเข้าเผาในเตาเผาแบบหมุน ที่อุณหภูมิสูงประมาณ ๑,๕๐๐ องศาเซลเซียส ก็จะได้ผลิตผลที่เรียกว่า ปูนเม็ด
จากนั้น นำปูนเม็ดมาบด จนเป็นผงละเอียดอีกครั้งหนึ่ง แล้วผสมแร่ยิปซัมลงไปประมาณ ๓ - ๕ เปอร์เซ็นต์ ก็จะได้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ สำหรับใช้ในการก่อสร้างตามที่ต้องการ
ปูนซีเมนต์ที่ผลิตได้นี้อาจแข็งตัวได้ง่าย เมื่อได้รับความชื้นหรือเปียกน้ำ จึงต้องเก็บไว้อย่างระมัดระวัง โดยบรรจุใส่ถุงกระดาษสีน้ำตาล ปิดปากถุงอย่างแน่นหนา ด้วยเครื่องจักร แล้วเก็บถุงปูนซีเมนต์วางเรียงให้ชิดกันมากที่สุด เพื่อไม่ให้อากาศผ่านได้บนพื้นคอนกรีต หรือพื้นไม้ที่สูงเหนือระดับพื้นดิน ภายในโรงเรือน หรืออาคารที่ปิดมิดชิด จนกว่าจะนำไปใช้งาน