ในเวลา ๑๐๐ ปีของคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ คือ ค.ศ. ๑๙๐๐-๑๙๙๙ เทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรามาก ทำให้เรามีโทรศัพท์ใช้ มีคอมพิวเตอร์ใช้ นอกจากนี้ คอมพิวเตอร์ยังเชื่อมโยงกันได้ โดยผ่านสายโทรศัพท์ มีการสร้างเครือข่ายของคอมพิวเตอร์ ที่ทำให้การติดต่อสื่อสารผ่านคอมพิวเตอร์ทำได้อย่างรวดเร็ว และครอบคลุมทั่วโลก
ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ จะช่วยให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำกิจกรรมได้คล้ายคนยิ่งขึ้น เช่น สามารถอ่านหนังสือภาษาไทยออก พูดโต้ตอบกับคนเป็นภาษา ไทยได้
สังคมที่เราอยู่ขณะนี้ จะเปลี่ยนแปลงไปได้มาก การเดินทาง ทั้งทางรถและเครื่องบินจะน้อยลง เช่น แทนที่จะต้องนั่งรถมาซื้อของ ที่ห้างสรรพสินค้า เราก็สามารถจะสั่งซื้อผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ได้ แทนที่ครูจะต้องเดินทางไปสอนนักเรียนในจังหวัดต่างๆ นักเรียนทั่วประเทศก็สามารถเรียนโดยดูครูผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ได้ แทนที่จะต้องเดินทางไปห้องสมุด ก็สามารถขอดู หรือขออ่านหนังสือผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ได้ และแทนที่คนหลายประเทศทั่วโลกต้องเดินทางไปประชุมร่วมกัน ก็สามารถมองเห็นหน้าตากัน หรือพูดคุยปรึกษากันผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ก็ได้
คอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่จะแสดงผล และโต้ตอบกับคน ใน ลักษณะเสมือนจริงได้มากขึ้น กล่าวคือ เป็นลักษณะสามมิติ ไม่ใช่เน้นแค่ให้มองเห็นจากจอคอมพิวเตอร์ แต่สามารถสร้างความรู้สึก เช่น รู้สึกถึงการสัมผัส ได้ยิน ได้กลิ่น
สภาพเสมือนจริงจะส่งเสริมการเรียนรู้ได้อย่างดีมาก เช่น ใน วงการแพทย์ คอมพิวเตอร์สามารถสร้างคนไข้เทียม ให้หมอฝึกหัดผ่าตัด เมื่อลงมือผ่าตัด จะเห็นส่วนต่างๆ ของร่างกายที่จำลองขึ้นมาได้ มีเลือดเทียมไหลออกมาได้ แม้จะผ่าตัดพลาดกี่ครั้ง ก็ไม่มีใครเป็น อันตราย สามารถฝึกหัดแล้วฝึกหัดอีก จนกระทั่งหมอเริ่มมีความชำนาญ แล้วจึงค่อยผ่าตัดคนจริงๆ
ก่อนที่เราจะฝันหวานว่า เทคโนโลยีสารสนเทศจะอำนวยความสะดวกได้มากมาย เราจะต้องระวัง ตรวจสอบ และป้องกัน ไม่ให้เกิดปัญหาคอมพิวเตอร์ทำงานผิดพลาด ซึ่งมักเกิดขึ้น เพราะ ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานพลาด อีกทั้งต้องรักษาผลประโยชน์ทางกฎหมายของผู้คิดค้นเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ๆ เหล่านี้ด้วย หากระวัง และแก้ปัญหาทั้งสองนี้ได้ดี ความฝันที่กล่าวมาเบื้องต้นก็มีแนวโน้มว่า จะเป็นความจริงได้มากขึ้น