เล่มที่ 23 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
วัฒนธรรมทางละครไทย (ละครรำ)
เล่นเสียงเล่มที่ 23 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ วัฒนธรรมทางละครไทย (ละครรำ)
สามารถแชร์ได้ผ่าน :



            ละครรำเป็นศิลปะการแสดงของไทย ที่ประกอบด้วยท่ารำ ดนตรีบรรเลง และบทขับร้อง เพื่อดำเนินเรื่อง

            ละครรำมีผู้แสดงเป็นตัวพระ ตัวนาง และตัวประกอบ แต่งองค์ทรงเครื่องตามบท งดงามระยับจับตา

            ท่ารำตามบทร้อง ประสานกับทำนองดนตรี ที่บรรเลงจังหวะเร็ว จังหวะช้า เร้าอารมณ์ ให้เกิดความรู้สึกคึกคัก สนุกสนาน หรือโศกเศร้า



            ตัวละครสื่อความหมายบอกกล่าวแสดงอารมณ์ ด้วยภาษาท่าทาง โดยใช้ส่วนต่างๆ ของร่างกาย วาดลีลาร่ายรำ ตามคำร้อง จังหวะ และเสียงดนตรี



            ท่ารำแต่ละท่าเลียนแบบอิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอน รวมทั้งแสดงอารมณ์ ความรู้สึกของตัวละคร เช่น ดีใจ รัก โกรธ อาย เป็นต้น

            ท่ารำบางท่าเลียนแบบธรรมชาติ เช่น ลมพัดยอดตอง เครือวัลย์พันไม้ ราหูจับจันทร์ บัวตูม บัวบาน บัวคลี่ บัวแย้ม เป็นต้น

            ท่ารำบางท่าเลียนแบบการก้าวเดินของสัตว์ แต่ปรับปรุงท่าทางให้งดงาม เช่น ยูงฟ้อนหาง กวางเดินดง หงส์บิน กินนรรำ เป็นต้น

            ละครรำมีหลายประเภท ได้แก่

            ละครชาตรี เล่นเรื่องมโนห์รา

            ละครใน เล่นเรื่องรามเกียรติ์ อุณรุท อิเหนา

            ละครนอก เล่นเรื่องไกรทอง โคบุตร ไชเชษฐ์ คาวี สังข์ทอง เป็นต้น



            ละครรำเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูง ซึ่งมีความประณีตงดงาม บ่งบอกถึงปรีชาสามารถของคนไทย เด็กและเยาวชนทั้งหลายจึงสมควรที่จะศึกษา และเรียนรู้ เพื่อธำรงรักษาวัฒนธรรมของชาติให้ยั่งยืนสืบไป