ในบทเรียนวิชาภาษาไทยของเด็กๆ มักมีเรื่องสังข์ทอง พระอภัยมณี หรือขุนช้างขุนแผน บางตอนอยู่ด้วยเสมอ ทำให้เด็กๆ ได้รู้จักตัวละครในเรื่อง ได้รับความสนุกสนานตื่นเต้นไปกับเนื้อเรื่อง ขณะเดียวกันก็ได้รับความรู้ และคติสอนใจต่างๆ มากมาย เด็กๆ ยังจำภาพเจ้าเงาะที่ตัวดำ ผมหยิกหยอง นุ่งผ้าเตี่ยว ทัดดอกชบาสีแดง มีลีลาการยั่วเย้าเท้าสามลอย่างสนุกสนานได้ ยังจำภาพที่น่าตื่นเต้นเมื่อโยคีขี่สายรุ้งเหาะลงไปในเหวลึกเพื่อช่วยสุดสาครขึ้นมา และขณะเดียวกัน ก็ยังจดจำภาพขุนช้างซึ่งหัวล้านและมีท่าทางไม่น่ารักรวมทั้งภาพพรรณไม้สวยงามดอกหอมและป่าที่อุดมด้วยต้นไม้ และแหล่งน้ำได้ทั้งๆ ที่ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เด็กๆ ได้สัมผัสจากความคิดของตนเอง เมื่ออ่านเรื่องเท่านั้น มิได้เห็นภาพเหล่านั้นจริงๆ บางคนยังคงจดจำบทกลอนเหล่านั้นได้แม้จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม วรรณคดีบางเรื่อง เช่น สังข์ทอง พระอภัยมณี หรือขุนช้างขุนแผน ในเนื้อหาจะมีการสอดแทรกชื่อของพรรณไม้นานาชนิดเอาไว้ด้วย ซึ่งทำให้ได้รับความรู้ทั้งเรื่องวรรณคดีและพรรณไม้ควบคู่กันไป