สมเด็จพระสุริโยทัย
การทำสงคราม ทหารมีหน้าที่ต่อสู้กับข้าศึก ทหารคือพลเมืองชาย แต่สำหรับคนไทยแล้ว ผู้หญิง และผู้ชาย ช่วยกันต่อสู้ข้าศึก เพื่อรักษาเอกราชมาตั้งแต่สมัยโบราณ
สมเด็จพระสุริโยทัย ทรงเป็นพระอัครมเหสีของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของไทย
คนไทยเทิดทูนสมเด็จพระสุริโยทัย เพราะพระองค์ทรงสละพระชนม์ชีพอย่างกล้าหาญ เพื่อป้องกันพระราชสวามีให้พ้นจากอันตรายในสนามรบระหว่างไทยกับพม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๑
สงครามครั้งนี้ พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ พระเจ้าแผ่นดินพม่ายกทัพใหญ่เข้ามารุกราน จนถึงเมืองหลวงคือ เมืองอยุธยา
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เสด็จขึ้นครองราชสมบัติได้เพียง ๗ เดือน ทรงจัดวางระเบียบการปกครองใหม่ ส่วนการทหาร ก็ยังมิได้ตระเตรียม เพื่อทำสงครามกับชาติใด เมื่อทราบข่าวเรื่องสงครามกองทัพพม่าได้ผ่านด่านเจดีย์สามองค์เข้ามาแล้ว พระองค์จึงเตรียมการรับข้าศึก ที่เมืองอยุธยา ทรงกวาดต้อนราษฎร ที่อยู่นอกกำแพงเมืองให้เข้ามาอยู่ในเมือง ปิดประตูเมือง จัดทหารขึ้นประจำป้อมรอบกำแพงเมือง เมืองอยุธยานี้ นอกจากจะมีกำแพงแน่นหนาแข็งแรงแล้ว ยังมีแม่น้ำล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง ต่อจากแม่น้ำออกไป มีทุ่งกว้าง พระองค์ทรงจัดกองทหารออกไปตั้งค่ายสกัดทุกทิศทางที่คาดว่าพม่าจะยกกองทัพเข้ามา
ทหารและราษฎรไทยไม่เคยพบศึกใหญ่ ซึ่งจะยกมาถึงพระนครเป็นจำนวนมาก จึงเล่าลือด้วยความหวาดหวั่นเป็นอย่างยิ่ง
ถึงแม้ว่าจะทรงใช้กลยุทธ์ตั้งรับอยู่ในเมือง ซึ่งเป็นทางได้เปรียบศัตรู แต่พระองค์ต้องพระประสงค์จะได้ออกไปพระราชทานกำลังใจให้ทหารที่อยู่นอกกำแพงเมือง และจะได้ทอดพระเนตรว่า ข้าศึกมีมากดังคำเล่าลือหรือไม่ พระองค์มิได้ตั้งพระทัยที่จะออกไปต่อสู้กับข้าศึกในวันนั้น
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จออกนอกพระนครพร้อมพระราเมศวร และพระมหินทราธิราช พระราชโอรส สมเด็จพระสุริโยทัย ผู้ทรงเป็นผู้มีฝีมือในการใช้อาวุธ และการขับขี่ช้าง ได้แต่งพระองค์เป็นชาย ในเครื่องทรงพระมหาอุปราช ตามเสด็จออกไปด้วย
เมื่อขบวนทัพของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ผ่านพ้นกำแพงเมืองออกไปยังทุ่งภูเขาทอง ก็เห็นกองทัพพม่าตั้งค่ายเรียงรายเต็มท้องทุ่ง
ฝ่ายพระเจ้าแปร ซึ่งเป็นแม่ทัพหน้า ก็ขับช้างตรงเข้ามาถึงหน้าขบวนทัพไทย สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จึงทรงขับข้างเข้าต่อสู้กับช้างพระเจ้าแปร แต่ช้างทรงของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสียทีหันหนี พระเจ้าแปรจึงขับช้างติดตามอย่างกระชั้นชิด พลางเงื้อของ้าวไล่ฟันสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
ขณะนั้นพระราชโอรสทั้งสองตกอยู่ในวงล้อมของทหารพม่า สมเด็จพระสุริโยทัยทอดพระเนครเห็นพระราชสวามีตกอยู่ในอันตราย จึงรีบไสช้างออกไปขวางไว้ พระเจ้าแปรจึงจ้วงฟันพระพาหา (บ่า) ขาดถึงพระอุระ (อก) สมเด็จพระสุริโยทัยสวรรคตทันที
พระราเมศวร และพระมหินทราธิราช พระราชโอรส ฝ่าวงล้อมออกมาต่อสู้กับพระเจ้าแปร แล้วกันเอาช้างและพระศพกลับเข้าเมืองได้ การรบในวันนั้นจึงยุติลง
การเสียสละพระชนม์ชีพของสมเด็จพระสุริโยทัย มิใช่เกิดขึ้น เพราะความรักความกตัญญุต่อพระราชสวามีเท่านั้น แต่เป็นการเสียสละอย่างกล้าหาญ เพื่อชาติไทย เพราะหากว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงพ่ายแพ้ หรือสวรรคตในวันนั้น ก็หมายถึงการแพ้สงคราม ซึ่งชาติไทยจะต้องสูญเสียเอกราช
ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร
เกาะถลางเป็นชื่อเก่าของเกาะภูเก็ต ส่วนเมืองถลางปัจจุบันนี้ เป็นเพียงอำเภอหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต
ในสมัยโบราณ เมืองถลางเป็นที่รู้จักในหมู่พ่อค้าชาวยุโรป ที่จะเดินทางผ่านไปมาในทะเลอันดามัน เพราะมีท่าจอดเรือปลอดภัย ไม่มีโจรผู้ร้าย มีอาหาร และน้ำจืดบริบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีสินค้าสำคัญคือ แร่ดีบุก
พม่าซึ่งมีเมืองท่าคือ มะริด อยู่เหนือเขตแดนไทย จึงคิดว่า จะเข้าตีเอาเมืองถลางได้โดยง่ายเ พราะอยู่โดดเดี่ยว
พม่าส่งกองทัพเรือ เริ่มตีเมืองตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดพังงา) ซึ่งอยู่บนแผ่นดินใหญ่เหนือเกาะถลาง และสามารถตีได้โดยง่ายทั้งสองเมือง แล้วพม่าจึงมุ่งลงใต้ไปยังเมืองถลาง
ก่อนข่าวศึกพม่าจะมาถึงเมืองถลาง เจ้าเมืองถลางถึงแก่กรรม และยังมิได้แต่งตั้งผู้ใดขึ้นแทน คุณหญิงจัน ภริยาท่านเจ้าเมืองมิได้ย่อท้อเสียขวัญ ท่านชักชวนน้องชาย น้องสาว และเครือญาติ พร้อมพลเมืองเป็นชายหญิง จัดฝึกทหาร หาอาวุธ ตั้งค่ายรับข้าศึกในตำบลที่ทหารเรือพม่าจะยกพลขึ้นบก
พลเมืองถลางทั้งหญิงชาย เห็นความองอาจกล้าหาญของคุณหญิงจัน ผู้ไม่หวาดกลัวพม่า ซึ่งตีเมืองตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง ที่มีเจ้าเมืองเป็นชาย และมีอาวุธมากกว่าเมืองถลาง แตกไปแล้ว
ชาวเมืองถลางทุกคน ทั้งหญิงชาย จึงพร้อมใจกันสละชีวิต ทำการสู้รบตามแผนของคุณหญิงจัน ด้วยความเคารพในน้ำใจ
พม่าล้อมเมืองถลางอยู่เดือนกว่า ก็ไม่สามารถตีได้ จึงถอยทัพกลับไป
เมื่อสงครามสงบลง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงทราบถึงวีรกรรมของคุณหญิงจัน และคุณมุก น้องสาว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ คุณหญิงจัน เป็นท้าวเทพกระษัตรี และคุณมุกน้องสาว เป็นท้าวศรีสุนทร
ท้าวสุรนารี
เจ้าอนุวงศ์เจ้าเมืองเวียงจันทน์ ยกกองทัพมายังเมืองนครราชสีมา กวาดต้อนพลเมืองชาย หญิง คนชรา และเด็ก เอาไปเวียงจันทน์ การที่เจ้าอนุวงศ์ใช้กำลังเข้าโจมตีเมืองนครราชสีมาได้โดยง่าย ก็เนื่องจากเจ้าเมือง และพระยาปลัด ที่ปรึกษาเจ้าเมือง ไปราชการ ที่เมืองขุขันธ์ (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดศรีสะเกษ) ดังนั้นเมืองนครราชสีมา จึงไม่มีผู้มีอำนาจจะต่อสู้กับเจ้าอนุวงศ์ได้
นายทหารลาวควบคุมพลเมือง เดินทางออกจากเมืองนครราชสีมา มุ่งตรงไปเวียงจันทน์
พระยาปลัดทราบว่า พลเมืองนครราชสีมาถูกกวาดต้อนไปแล้ว จึงขออนุญาตเจ้าเมืองนครราชสีมากลับไปหาทางช่วยเหลือ
เมื่อพระยาปลัดมาถึงนครราชสีมาก็ได้เฝ้าเจ้าอนุวงศ์ และยอมสวามิภักดิ์ เพื่อจะได้เดินทางไปเวียงจันทน์ด้วย
เจ้าอนุวงศ์ก็ยินยอมให้ติดตามไป และได้เร่งเดินทางไป จนได้พบกับภริยาพระยาปลัดคือ คุณหญิงโม ซึ่งอยู่ในกลุ่มนี้
คุณหญิงโมชักชวนให้คนไทยยอมอ่อนน้อม ไม่แสดงการขัดขืนเป็นศัตรู นอกจากนี้ยังให้หญิงไทยช่วยหาอาหารเผื่อแผ่แก่ทหารลาว ในที่สุดทหารลาวก็วางใจ และสงสาร ต่อมาคนไทยจึงขอปืน มีด และขวาน เพื่อเอาไปล่าสัตว์หาอาหารมาเลี้ยงกัน ทหารลาว ผู้ได้ประโยชน์ด้วย ก็ยินยอม
คนไทยจึงแอบเอามีดและขวานไปตัดไม้มาทำอาวุธ เช่น แหลน หลาว และไม้พลอง ซ่อนไว้
คุณหญิงโมแนะนำให้ผู้หญิงไทยทำอาหาร และรับใช้ทหารลาว จนสนิทสนมกันดี
ในที่สุดคุณหญิงโมก็นัดหมายวันสำคัญ คือ จัดงานเลี้ยงอย่างดี มีสุรา อาหาร เป็นพิเศษ เมื่อทหารลาวนอนหลับ เพราะความมึนเมา คนไทยทั้งหญิงชายก็ให้สัญญาณลงมือฆ่าทหารลาวพร้อมกันทุกหน่วย นายทหารผู้ควบคุม และทหารลาวตายเกือบหมด เหลือเพียงเล็กน้อย ก็หนีไปนครราชสีมา คุณหญิงโม และพระยาปลัดสามี จะกลับไปนครราชสีมาก็ไม่ได้ เพราะเจ้าอนุวงศ์ยังอยู่ จึงตัดสินใจช่วยกันตั้งค่ายต่อสู้กับลาว ที่ทุ่งสำริด ไม่ห่างจากเมืองนครราชสีมา
เจ้าอนุวงศ์ส่งทหารมาสามพันคน เพื่อปราบเชลยไทย แต่พระยาปลัดรวบรวมพลเมืองชายเป็นกองทหาร ใช้อาวุธของลาว ที่ริบไว้ได้ ส่วนคุณหญิงโม ก็คุมพลเมืองหญิงถืออาวุธทำเองบ้าง ของลาวบ้าง เข้าช่วยผู้ชายต่อสู้อย่างกล้าหาญ จนทหารลาวตายไปกว่าสองพันคน ในที่สุดทหารลาวก็ยอมแพ้ ถอยกลับไป
เมื่อสงครามสงบลง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์คุณหญิงโมเป็น ท้าวสุรนารี เพื่อยกย่องความกล้าหาญของสตรี