เล่มที่ 27 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
การปฏิวัติทางพันธุกรรม
เล่นเสียงเล่มที่ 27 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ การปฏิวัติทางพันธุกรรม
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            เด็กๆ เคยสงสัยบ้างหรือไม่ว่า ทำไมสิ่งมีชีวิตต่างๆ บนโลก ทั้งมนุษย์ สัตว์ และพืช จึงมีรูปร่างลักษณะที่แตกต่างกันออกไป เช่น ทำไมต้นไม้จึงมีทั้งต้นใหญ่ และต้นเล็ก ดอกไม้มีหลากหลายสี หรือทำไมมนุษย์จึงมีตาสีฟ้า และผมสีทองบ้าง หรือมีตาสีดำ และผมสีดำบ้าง นักวิทยาศาสตร์ที่เก่งๆ ก็สงสัยเหมือนกันว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น และได้ค้นพบว่า สิ่งที่ทำให้รูปร่างลักษณะแตกต่างกันเช่นนั้น คือ ยีน ซึ่งเป็นหน่วยพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ นั่นเอง ยีนนี้จะอยู่ในเซลล์ของตัวคน สัตว์ และพืช ทำหน้าที่กำหนด และควบคุมรูปร่างลักษณะที่แตกต่างกัน ในสิ่งมีชีวิต และควบคุมระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกาย ทั้งมีสมบัติถ่ายทอดไปสู่รุ่นลูกหลานได้ด้วย เมื่อสิ่งมีชีวิตมีการผสมพันธุ์กันตามธรรมชาติ ยีนก็จะถ่ายทอดจากพ่อแม่สู่ลูก หรือจากพืชสู่เมล็ดพืชต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด


            นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่า ยีนคือ สารเคมีชนิดหนึ่งที่เรียกโดยย่อว่า ดีเอ็นเอ และได้ศึกษาโครงสร้าง และการทำงานของยีนหรือดีเอ็นเอ จนปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ทราบแล้วว่า ยีนถ่ายทอดจากพ่อแม่สู่ลูกได้อย่างไร ร่างกายทำงานอย่างไร โรคทางกรรมพันธุ์เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ที่น่าตื่นเต้นยิ่งไปกว่านั้น นักวิทยาศาสตร์สามารถนำยีนของสิ่งมีชีวิตต่างชนิดกันมาผสมกันได้ เช่น นำยีนของแบคทีเรีย มาผสมกับยีนของพืชหรือสัตว์ หรือนำยีนของสัตว์ทะเล มาผสมกับยีนของสัตว์บก ทำให้ได้สัตว์หรือพืช ที่มีลักษณะใหม่ตามที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการ เราเรียกการผสมพันธุกรรมเช่นนี้ว่า การตัดต่อยีน และเรียกสิ่งมีชีวิตที่ได้จากการตัดต่อยีนว่า พืชหรือสัตว์ดัดแปลงพันธุกรรม


            การปฏิวัติทางพันธุกรรม โดยการตัดต่อยีนในรูปแบบต่างๆ ที่คาดว่า จะเป็นประโยชน์ได้ เช่น การนำยีนควบคุมการสร้างสารพิษของเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง มาตัดต่อกับยีนของข้าวโพด ทำให้ข้าวโพดที่ได้ใหม่ มียีนสร้างสารพิษ เมื่อแมลงกัดกินข้าวโพด ก็จะได้รับสารพิษและตาย เราก็จะมีข้าวโพดที่ดี มีฝักใหญ่ๆ จำนวนมาก

            อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตย่อมมีการปรับตัวทางพันธุกรรม เพื่อความอยู่รอด แมลงก็อาจพัฒนาตัวเอง ให้ดื้อต่อสารพิษได้ในอนาคตด้วย