เด็กๆ คงเคยได้ยินคำว่า “สูง” แล้วใช่ไหม คำคำนี้มีที่ใช้ที่หลากหลาย เช่น ถ้าเราจะพูดถึงขนาด หรือรูปร่าง เราก็พูดว่า คนสูง ต้นไม้สูง ตึกสูง ถ้าเราจะพูดถึงสถานที่ เราก็พูดว่า ที่ราบสูง ฟ้าสูง ภูเขาสูง ถ้าเราจะพูดถึงอากาศ เราก็พูดว่า ความกดอากาศสูง ถ้าเราจะพูดถึงสถานะของบุคคล เราก็พูดว่า เบื้องสูง หรือที่สูง ซึ่งหมายถึง อะไรก็ตามที่เราต้องเงยขึ้นไปมองก็ใช้คำว่า ที่สูง ทั้งนั้น
คำว่า “สูง” ยังมีอีกความหมายหนึ่งที่ใช้กับอายุของบุคคล โดยใช้ในความหมายว่ายาวนาน คนที่มีอายุมากๆ หลายๆ ปี เราไม่เรียกว่า ผู้มากอายุ หรือผู้หลายอายุ แต่เราใช้คำว่า ผู้สูงอายุ แม้แต่ผู้ที่มีอายุยืน ท่านก็เป็นผู้สูงอายุ เด็กๆ คงจะสงสัยว่า เราจะตัดสินได้อย่างไรว่า ใครบ้างเป็นผู้สูงอายุ
ตามที่ยึดถือกันทั่วไปประเทศต่างๆ ได้แบ่งประชากรออก เป็น ๓ กลุ่มใหญ่ๆ ตามช่วงอายุ คือ อายุตั้งแต่แรกเกิด – ๑๔ ปี เป็นประชากรวัยเด็ก อายุตั้งแต่ ๑๔–๕๙ ปี เป็นประชากรวัยทำงาน และอายุตั้งแต่ ๖๐ ปีขึ้นไป เป็นประชากรวัยสูงอายุ
ต่อจากนี้ไป เมื่อเด็กๆ ทราบอายุของผู้ใหญ่แล้ว คงจะบอกได้แล้วใช่ไหมว่า ญาติผู้ใหญ่ของเรานั้น ท่านเป็นผู้สูงอายุหรือไม่