
ลิเก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ยี่เก เป็นละครเร่ที่เจ้าภาพจ้างไปแสดงที่วัด หรือที่บ้าน ในงานประจำปี งานบวช และงานศพ หรือปลูกโรงล้อมรั้วเก็บเงินค่าเข้าชมเอง โรงลิเกเป็นเวทียกพื้นเล็กน้อย มีตั่งหรือเตียงไม้วางตรงกลางเป็นที่นั่งแสดง ข้างหลังตั่งยกพื้นสูงขึ้น เป็นที่ตั้งวงดนตรีปี่พาทย์ ข้างหลังมีฉากผ้าวาดเป็นทิวทัศน์ กั้นมิให้ผู้ชมเห็นหลังโรง ซึ่งเป็นที่สำหรับแต่งตัว

ลิเก แสดงทั้งกลางวัน และกลางคืน เริ่มต้นด้วยโหมโรง คือ เล่นดนตรีเรียกคนมาชมลิเก ออกแขก คือ มีผู้แสดงออกมาแนะนำคณะลิเก เรื่องที่จะแสดง ขอบคุณเจ้าภาพ และผู้ชม จบออกแขกก็แสดงลิเกเป็นเรื่องอย่างละครไปจนจบเรื่อง หรือหมดเวลา ตัวลิเกแบ่งออกเป็น พระเอก นางเอก ตัวโกง ตัวอิจฉา และตัวตลก ซึ่งต่างออกมาแสดงอย่างสวยงาม รวดเร็ว สนุกสนาน จัดจ้าน และตลกโปกฮา ตัวลิเกร้องรำ และเจรจา ด้วยการด้น คือ คิดขึ้นเองเดี๋ยวนั้น ไม่มีการฝึกซ้อมมาก่อน และไม่มีการบอกบท ภาษาที่ใช้เป็นภาษาไทยภาคกลาง ลิเกจึงมีแสดงในภาคกลางเป็นส่วนใหญ่

ลิเก มีลักษณะเด่นคือ เครื่องแต่งกายของพระเอกประดับเพชรจำนวนมาก มีขนนกสีขาวขนาดใหญ่ประดับศีรษะ สวมถุงน่องสีขาว และมีเพลง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของลิเกคือ เพลงราชนิเกลิง (ราด-นิ-เกลิง) ที่ใช้ร้องดำเนินเรื่องตลอดเวลา นอกจากนี้ เมื่อผู้ชมพอใจการแสดง ก็ลุกจากที่นั่งมาที่หน้าเวที เพื่อมอบรางวัลเป็นธนบัตร หรือพวงมาลัยติดธนบัตรแก่ตัวลิเก ซึ่งมักเป็นพระเอก ผู้ชมส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง มักชอบดูพระเอกที่หน้าตาดี รูปร่างอ้อนแอ้น ร้องเพลงได้ไพเราะ ด้นกลอนเก่ง รำสวย เครื่องแต่งกายงดงาม ส่วนฉาก ที่ชอบดูคือ ฉากตลก
\

ลิเก มาจาก จิเก คือ การสวดสรรเสริญพระเจ้าของชาวไทยมุสลิม ผสมผสานกับละครรำของไทย จนเกิดเป็นละครแบบใหม่ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ และเป็นที่นิยมของชาวบ้านมาจนถึงปัจจุบัน