เด็กๆ เคยเข้าไปในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไหม ถ้าเข้าไปเด็กๆ คงจะเคยเห็นแท่งหินสีเทาๆ รูปร่างเหมือนเสาสี่เหลี่ยม ปลายโค้งมน เหมือนดินสอทื่อๆ มีรอยสลักแปลกๆ อยู่ทั้ง ๔ ด้าน |
เด็กๆ ทราบไหมว่า แท่งหินนั้นคืออะไร ก็ศิลาจารึกอย่างไรล่ะ ศิลา แปลว่า หิน จารึก แปลว่า ขีด เขียน หรือสลักด้วยวัตถุแหลมคม ศิลาจารึก จึงแปลว่า แท่งหิน ที่มีรอยขีดเขียน สลัก ลายเส้น หรืออักษร หรือรูปภาพ ด้วยวัตถุแหลมคม |
ในสมัยโบราณไม่มีกระดาษมาทำสมุดหรือหนังสืออย่างเดี๋ยวนี้ คนโบราณจึงต้องจารึกข้อความที่ต้องการจะสื่อความหมาย ลงไปบนศิลาหรือหิน เพื่อจะได้เก็บสิ่งที่เขียนไว้ให้อยู่ได้นานๆ สิ่งที่จารึกนั้นอาจจะเป็นภาพคน สัตว์ ต้นไม้ บ้านเรือน หรือลานเส้น ที่บอกให้รู้เหตุการณ์ต่างๆ แทนตัวหนังสือ บางครั้งก็สลักเป็นอักษรโบราณเล่าเรื่องที่ต้องการถ่ายทอดสู่ผู้อื่น หรือคนรุ่นหลัง เราถือว่า ศิลาจารึกเป็นเอกสารโบราณอย่างหนึ่ง ที่คนโบราณสร้างขึ้น เพื่อถ่ายทอดเรื่องราว ด้วยลายเส้นหรือภาพเป็นสื่อแทนคำบอกเล่า ทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ในช่วงเวลาที่มีการจารึกศิลานั้นๆ เช่น ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ในสมัยสุโขทัย เป็นเมืองหลวง ที่ตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นต้น วิธีจารึก ก็คือ การใช้เหล็กแหลมตอกสลักให้เป็นร่องลึก ลงไปในเนื้อวัตถุ เหล็กที่ใช้จารึก เรียกว่า เหล็กสกัด หรือเหล็กจาร หรืออาจจะเป็นอย่างอื่น ที่มีลักษณะแข็งและคม เนื่องจากเป็นการจารึก บนแผ่นหรือแท่งศิลา เราจึงเรียกว่า ศิลาจารึก |