เล่มที่ 16 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
การช่างและหมู่บ้านช่าง
เล่นเสียงเล่มที่ 16 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ การช่างและหมู่บ้านช่าง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            ถ้าโรงเรียนจัดนิทรรศการผลงานศิลปหัตถกรรมของนักเรียน และให้โอกาสบุคคลภายนอกเข้าชม นักเรียนเคยคิดอยากจะให้คุณพ่อคุณแม่ไปชมผลงานศิลปหัตถกรรม อันเป็นฝีมือของตนบ้างหรือไม่
            งานศิลปหัตถกรรมของนักเรียน เกิดจากการปลูกฝังความรู้ในงานพื้นฐานอาชีพ และเสริมสร้างลักษณะนิสัยของนักเรียนให้รู้จักความประณีต ความรักในสิ่งสวยงาม ตลอดจนการรู้จักประดิษฐ์สิ่งของใช้สอยในบ้าน เช่น การพับกระดาษให้เป็นรูปสัตว์ การระบายสีรูป การทำปลาตะเพียน การทำพัด ทำบ้านจำลอง ทำกระเช้ากล้วยไม้ เป็นต้น
            สิ่งของเครื่องใช้สอยในบ้านที่อยู่รอบตัวเรา ล้วนแต่เป็นสิ่งที่คนเราทำขึ้นทั้งสิ้น นับตั้งแต่เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องประดับบ้าน โต๊ะ ตู้ เก้าอี้ บ้านเรือนที่อยู่อาศัย จนถึงสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น โรงเรียน วัดวาอาราม ตึก สะพาน พระราชวัง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คนเราเป็นผู้คิดทำขึ้นทั้งนั้น ผู้ที่มีความสามารถในการทำสิ่งต่างๆ ดังกล่าวนี้ ให้มีความสวยงาม และให้ได้ประโยชน์ในการใช้สอย เราเรียกว่า "ช่าง" ส่วนวิธีประดิษฐ์ให้ประณีตสวยงาม เช่น การนำหินสีสวยๆ มาเจียระไนเป็นหัวแหวน การปักลวดลายบนเสื้อผ้า จนถึง การสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยให้มีรูปทรงต่างๆ กันนั้น ช่างซึ่งเป็นคนทำ จะมีวิธีการทำที่แตกต่างกันไปเรียกว่า "การช่าง"
            การช่างมีมาตั้งแต่สมัยที่มนุษย์ยังพำนักอาศัยอยู่ตามป่าเขา และถ้ำ ดังปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์สมัยโบราณ เช่น คนสมัยหิน รู้จักกะเทาะหินแหลมมาทำเป็น มีด พร้า และอาวุธล่าสัตว์ ต่อมาเมื่อคนเรามีความรู้มากขึ้น รู้จักสร้างบ้านเรือนเป็นที่พำนักอาศัย รู้จักนำดินเหนียวมาปั้นหม้อ ไห รู้จักการจักสานภาชนะใส่สิ่งของใช้ในบ้าน รู้จักการถักทอผ้าทำเครื่องนุ่งห่มแทนใบไม้ และหนังสัตว์ สิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานว่า คนสมัยโบราณมีความสามารถในการช่างบ้างแล้ว
            ในเมื่อคนอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นชุมชน เป็นเผ่า และดำเนินชีวิตความเป็นอยู่คล้ายคลึงกัน ย่อมคิดประดิษฐ์สิ่งของใช้สอยในลักษณะเดียวกัน เช่น หมู่บ้านคนไทยในที่ต่างๆ จะคิดประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้มีลักษณะคล้ายคลึงกัน และมีวิธีการทำที่เป็นแบบอย่างเฉพาะของคนไทยสืบต่อๆ กันมา อย่างนี้เรียกว่า "การช่างไทย"