|
ทุกครัวเรือนต้องซื้ออาหาร เช่น ซื้อข้าวสาร ผัก เนื้อ และต้องซื้อเครื่องปรุงอาหารมาประกอบอาหาร หรือซื้ออาหารสำเร็จรูปมาบริโภค บางรายการต้องซื้อทุกวัน บางรายการซื้ออาทิตย์ละครั้ง ส่วนใหญ่จะซื้อจากตลาดสดข้างบ้าน หรือจากร้านค้าปลีกในตลาด หรือซื้อจากแผงลอย |
|
สินค้าที่ผู้ค้าปลีก หรือแม่ค้า ในตลาดสดขาย เช่น ข้าวสาร หรือผัก คนขายไม่ได้ปลูกเอง แต่จะซื้อมาอีกทีหนึ่งจากพ่อค้าขายส่ง พ่อค้าขายส่งก็ต้องซื้อมาอีกทอดหนึ่ง อาจจะซื้อขายกันมาเป็นทอดๆ และใช้เวลานานกว่าจะมาถึงร้านค้าปลีก เพราะจริงๆ แล้ว ผู้ปลูกข้าว และผู้ปลูกผัก รวมทั้งสินค้าเกษตรอื่นๆ อยู่ต่างจังหวัด ข้าวสารอาจจะมาจากข้าวเปลือกที่ปลูกในจังหวัดเชียงราย หรือมาจากจังหวัดสุรินทร์ ผักก็อาจจะมาจากจังหวัดราชบุรี ต้องมีพ่อค้าในหมู่บ้านไปรับซื้อจากชาวนา รวบรวมเอาไปขายต่อให้กับพ่อค้าในอำเภอ ซึ่งมีโรงสี สีเป็นข้าวสารแยกเป็นข้าวสารชนิดต่างๆ ขายส่งให้กับพ่อค้าขายส่ง เอาข้าวสารไปบรรจุถุงเล็ก แล้วขายต่อให้กับร้านค้าปลีก เพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภค ผัก ผลไม้ สินค้าอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน |
|
การที่นำสินค้าจากผู้ผลิตมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคถือว่า เป็นการทำหน้าที่การตลาด หรือให้บริการการตลาด ผู้ที่ทำหน้าที่มีมาก เช่น พ่อค้าในหมู่บ้าน พ่อค้าข้าวเปลือกในอำเภอ พ่อค้าขายส่งในจังหวัด รวมทั้งผู้ทำการขนส่ง ตลอดจนร้านค้าปลีก รวมเรียกว่า คนกลาง เพราะทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมผู้ผลิต และผู้บริโภค
|
|
สินค้าเกษตรแต่ละชนิดต้องการบริการในการตลาดต่างกัน เพราะสินค้ามีลักษณะต่างกัน และผู้บริโภคเองก็ต้องการบริการต่างกัน ไข่ไก่ ที่ขายให้กับผู้บริโภค ไม่ต้องการบริการในการตลาดมาก เพราะไม่ต้องแปรรูป ผิดกับข้าวสาร ซึ่งต้องสี ต้องคัดแยกตามคุณภาพ ต้องบรรจุถุงใหม่ การให้บริการการตลาดเหล่านี้ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งมีทั้งค่าใช้จ่ายจริง เช่น ค่าขนส่ง ค่าสีข้าว และกำไรของผู้ทำหน้าที่การตลาด |
|
เงินที่ผู้บริโภคจ่ายซื้อส่วนหนึ่ง จึงต้องจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการตลาด แต่ก็เป็นบริการที่จำเป็นจะต้องมี ขาดไม่ได้ คนกลางก็ต้องมี เพราะถ้าไม่มีคนกลาง หรือไม่มีการตลาด เกษตรกรผลิตสินค้าขึ้นมาแล้ว ก็ขายไม่ได้ ผู้บริโภคเองก็ไม่มีสินค้าให้ซื้อหา อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน |