เล่มที่ 14 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
ประติมากรรมไทย
เล่นเสียงเล่มที่ 14 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ประติมากรรมไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            เมื่อเราไปวัด เรามักจะเข้าไปไหว้พระในโบสถ์ ปกติในโบสถ์จะมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่เป็นพระประธาน ๑ องค์ พระพุทธรูปนี้ เป็นรูปแทนองค์พระพุทธเจ้า ลักษณะจะไม่เหมือนองค์จริงทุกอย่าง เพราะคนสร้าง สร้างขึ้นจากอุดมคติ ความรู้สึก ความเชื่อ และความศรัทธา โดยใช้ความสามารถทางด้านศิลปะเข้าไปช่วย ทำให้ผู้ดูรู้สึกว่า มีความงดงาม น่านับถือ น่าศรัทธา

            พระพุทธรูป เป็นผลงานทางศิลปะชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ประติมากรรม ประติมากรรมเป็นงานศิลปะที่เกิดจากการปั้น หล่อ แกะสลัก ฉลุ หรือดุน นอกจากพระพุทธรูป ซึ่งเป็นประติมากรรมรูปคนแล้ว ยังมีประติมากรรมรูปสัญลักษณ์ ซึ่งสร้างขึ้น เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงความเชื่อทางศาสนา เช่น งานปั้น หรืองานแกะสลักรูปดอกบัว เป็นเครื่องหมายของการประสูติ ของพระพุทธเจ้า ใบเสมา ซึ่งหล่อด้วยปูน แกะสลักด้วยไม้หรือหิน ซึ่งติดตั้งอยู่รอบพระอุโบสถ ก็เป็นเครื่องหมายแสดงขอบเขตของโบสถ์ ซึ่งถือว่า เป็นแดนบริสุทธิ์ พระเครื่ององค์เล็กๆ ก็นับเป็นประติมากรรมรูปสัญลักษณ์ ที่เป็นเครื่องหมาย แทนองค์พระพุทธเจ้าด้วยเช่นกัน


            บรรพบุรุษของไทยได้สร้างผลงานทางประติมากรรมขึ้นมาจำนวนมาก ผลงานเหล่านี้เป็นหลักฐานที่สะท้อนความเชื่อ และวัฒนธรรมของคนไทยมาแต่ในอดีต แสดงให้เห็นความสามารถทางศิลปะ ของคนไทย ที่สามารถสร้างผลงานอันงดงามละเอียดประณีต และมีแบบอย่างเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวไทยควรภาคภูมิใจอย่างยิ่ง เราควรช่วยกันดูแลรักษา และทำนุบำรุงผลงานทางประติมากรรมของไทย ให้อยู่ในสภาพที่ดีต่อไป