เล่มที่ 14 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
สมุนไพร
เล่นเสียงเล่มที่ 14 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ สมุนไพร
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            เราคงเคยสังเกตุเห็นว่า เมื่อสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขหรือแมวไม่สบาย มันมักจะไปเล็มหญ้าหรือใบตะไคร้กิน บางทีเมื่อเราถูกน้ำร้อน หรือไฟลวกมือ ผู้ใหญ่จะใช้ว่านหางจระเข้มาทาที่แผล โดยบอกว่า ช่วยให้แผลหายเร็ว และจะไม่เป็นแผลเป็น หรือเป็นรอยด่าง จะเห็นได้ว่า หญ้า ตะไคร้ ว่านหางจระเข้ เป็นพืชที่มีคุณสมบัติช่วยรักษาโรคหรืออาการเจ็บป่วยบางอย่างได้ เราเรียกพืชชนิดนี้ว่า สมุนไพร


            ถ้าเราปลูกพืชสมุนไพรบางอย่างไว้ที่บ้าน เราจะได้ประโยชน์มาก เพราะสามารถใช้รักษาอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ บางอย่างของเราได้ นับว่าสะดวก และไม่สิ้นเปลืองเงิน

            พืชสมุนไพรที่เราควรปลูกไว้ เพราะใช้เป็นอาหาร และรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยบางอย่างได้นั้น มีหลายชนิดด้วยกัน เช่น ขิงและข่า เราใช้เหง้าสดหรือแห้งมาทุบให้แตก ต้มเอาน้ำดื่ม รักษาอาการท้องอืด จุกเสียด ตะไคร้ เรานำมาทั้งต้นและราก สับเป็นท่อน ต้มกับน้ำและเกลือ ดื่มรักษาอาการปวดท้อง ท้องอืดได้เช่นกัน กล้วยน้ำว้า ถ้ารับประทานสดขณะยังห่ามอยู่ สามารถรักษาอาการท้องเดินได้ ขมิ้น เราใช้เหง้าตำผสมกับน้ำฝน คั้นน้ำทารักษากลากและเกลื้อน ตำลึง เรานำใบสดมาตำ คั้นเอาน้ำมาทาแก้พิษแมลงกัดต่อย นอกจากนั้นยังมีพืชสมุนไพรอื่นๆ อีกจำนวนมากที่มีประโยชน์มากเช่นกัน เช่น ใบกะเพรา ฝรั่ง น้อยหน่า กระเทียม และมะนาว เป็นต้น


            สมุนไพร หรือยาสมุนไพร  ถึงแม้จะมีประโยชน์หลายประการ แต่เราก็ต้องมีความเข้าใจ และมีความระมัดระวังในการใช้ เช่น ต้องระวังเรื่องความสะอาด ต้องใช้วิธีการและขนาดที่ระบุไว้ ต้องไม่ใช้นานเกินไป และถ้าอาการเจ็บป่วยไม่ดีขึ้น หรือมีอาการผิดปกติหลังการใช้ ๓-๕ วัน ต้องรีบปรึกษาแพทย์