เล่มที่ 17 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์
เล่นเสียงเล่มที่ 17 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
 
ในอดีตมนุษย์เลือกตั้งถิ่นฐานกันที่ไหน

            มนุษย์ส่วนใหญ่จะเลือกตั้งถิ่นฐานในเขตพื้นที่ราบกว้างขวางที่มีแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง หรือทะลเสาบ อยู่ในบริเวณใกล้เคียง บางกลุ่มจะอาศัยอยู่แถบชายทะเล เพราะในพื้นที่ดังกล่าวจะมีสภาพดินฟ้าอากาศเหมาะสมแก่การดำรงชีวิต นอกจากนั้นยังสะดวกในการหาอาหารจำพวกสัตว์และพืช ที่มีอยู่ในน้ำและบนบก ซี่งมีอยู่มากมายมาเลี้ยงชีพได้อย่างพอเพียง และยังไม่ต้องเสี่ยงหรือระวังภัยอันตรายจากสัตว์ป่าที่ดุร้ายมากนัก
            ยังมีมนุษย์บางกลุ่มตั้งถิ่นฐานอยู่ในป่า เช่น พวกเงาะซาไก ซึ่งอยู่ทางใต้ของประเทศไทย ในเขตจังหวัดยะลา และมีบางกลุ่มตั้งถิ่นฐานอยู่ในที่ราบสูง หรือบนภูเขา มีชาวเขาหลายเผ่าอาศํยอยู่ทางภาคเหนือในเขตจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และน่าน เป็นต้น
            เหตุจูงใจที่ทำให้มนุษย์บางพวกตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตพื้นที่สูง หรือถิ่นทุรกันดารเข้าถึงลำบากนั้น นอกจากความเคยชินกับสภาพพื้นที่ และสภาพดินฟ้าอากาศที่ชุ่มชื้น และหนาวเย็นแล้ว ยังสันนิษฐานว่า เพื่อความปลอดภัยจากการรุกรานอีกด้วย
            ในปัจจุบันมนุษย์ก็ยังเลือกตั้งถิ่นฐานในที่ราบกว้าง เพื่อการประกอบอาชีพต่างๆ อาชีพที่สำคัญๆ ได้แก่ การปลูกพืช เช่น ทำนาข้าว ทำสวนมะม่วง ทำไร่ข้าวโพด เป็นต้น การเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว สุกร ไก่ ปลา กุ้ง และหอย เป็นต้น การค้าขาย และการผลิตสิ่งของ โดยใช้เครื่องจักรตามโรงงานต่างๆ